เรียกค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าส่วนที่เรียกว่าผู้จัดการส่วน จำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับตำแหน่งพนักงานฉบับแก้ไข พ.ศ.2530 ข้อ 4 สรุปได้ว่าพนักงานหญิงทั่วไปซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย เกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จำเลยเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐวิสาหกิจเช่นจำเลยได้รับการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ้างเดิม ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2544 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานมีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2544 เนื่องจากโจทก์มีอายุ 55 ปี จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ตามระเบียบเดิม ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 เมื่อมติคณะรัฐมนตรีมิให้นำคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจที่เกิดจากการแทรกแซงเข้าถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบเดิม ส่วนในข้อที่เกี่ยวกับความแตกต่างกันระหว่างการเกษียณอายุของพนักงานที่เป็นหญิงและเป็นชายตามระเบียบดังกล่าวนั้น แม้จำเลยจะมีระเบียบเกี่ยวกับบำเหน็จพนักงานฉบับแก้ไข พ.ศ.2530 กำหนดให้ข้อ 4 ให้พนักงานหญิงทั่วไปซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่สำหรับตำแหน่งของโจทก์คือตำแหน่งหัวหน้าส่วนที่เรียกว่าผู้จัดการส่วน ไม่ปรากฏว่าโดยลักษณะหรือสภาพของงานในตำแหน่งนี้ไม่อาจกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อย่างพนักงานชายได้ ในเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยระเบียบนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
อนึ่ง แม้ในข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง แต่การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยอาศัยระเบียบซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งโจทก์ย่อมอุทธรณ์ได้แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง และในเมื่อการเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วก็เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางจะต้องใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาใช้ดุลพินิจดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2549
พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 เป็นบทบัญญัติทั่วไป รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะพ้นจากตำแหน่งพนักงานนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อมติคณะรัฐมนตรีมิให้นำคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจที่เกิดจากการแทรกแซงเข้าถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบเดิม ส่วนในข้อที่เกี่ยวกับความแตกต่างกันระหว่างการเกษียณอายุของพนักงานที่เป็นหญิงและเป็นชายตามระเบียบดังกล่าวนั้น แม้จำเลยจะมีระเบียบเกี่ยวกับพนักงานฉบับแก้ไข พ.ศ.2530 กำหนดให้พนักงานหญิงทั่วไปซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบรูณ์ แต่สำหรับตำแหน่งของโจทก์คือตำแหน่งหัวหน้าส่วนที่เรียกว่าผู้จัดการส่วน ไม่ปรากฏว่าโดยลักษณะหรือสภาพของงานในตำแหน่งนี้ไม่อาจกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อย่างพนักงานชายได้ ในเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยระเบียบนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ในข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง แต่การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยอาศัยระเบียบซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งโจทก์ย่อมอุทธรณ์ได้แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง และในเมื่อการเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วก็เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางจะต้องใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม 1,499,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าส่วนที่เรียกว่าผู้จัดการส่วน จำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับตำแหน่งพนักงานฉบับแก้ไข พ.ศ.2530 ข้อ 4 สรุปได้ว่าพนักงานหญิงทั่วไปซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย เกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อประมาณปี 2540 ถึง 2541 เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จำเลยประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จึงทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เข้าถือหุ้นในกิจการของจำเลยเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนของจำเลยตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของรัฐบาล การเข้าถือหุ้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินดังกล่าวทำให้จำเลยเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐวิสาหกิจเช่นจำเลยได้รับการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ้างเดิม ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2544 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานมีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2544 เนื่องจากโจทก์มีอายุ 55 ปี โจทก์มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าส่วนซึ่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายของจำเลยและโจทก์มีอายุครบ 55 ปีบริบรูณ์ในวันที่ 19 เมษายน 2544 จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ตามระเบียบเดิม การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ที่โจทก์อ้างเป็นบทบัญญัติทั่วไปที่รัฐวิสหากิจแต่ละแห่งสามารถกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะพ้นตำแหน่งพนักงานนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อมติคณะรัฐมนตรีมิให้นำคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจที่เกิดจากการแทรกแซงเข้าถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบเดิม ส่วนในข้อที่เกี่ยวกับความแตกต่างกันระหว่างการเกษียณอายุของพนักงานที่เป็นหญิงและเป็นชายตามระเบียบดังกล่าวนั้น แม้จำเลยจะมีระเบียบเกี่ยวกับบำเหน็จพนักงานฉบับแก้ไข พ.ศ.2530 กำหนดให้ข้อ 4 ให้พนักงานหญิงทั่วไปซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่สำหรับตำแหน่งของโจทก์คือตำแหน่งหัวหน้าส่วนที่เรียกว่าผู้จัดการส่วน ไม่ปรากฏว่าโดยลักษณะหรือสภาพของงานในตำแหน่งนี้ไม่อาจกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อย่างพนักงานชายได้ ในเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยระเบียบนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง แม้ในข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง แต่การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยอาศัยระเบียบซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งโจทก์ย่อมอุทธรณ์ได้แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง และในเมื่อการเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วก็เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางจะต้องใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาใช้ดุลพินิจดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาโดยนัยที่กล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.
( วิชัย วิวิตเสวี - อรพินท์ เศรษฐมานิต - หัสดี ไกรทองสุก )
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 225 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็น ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใด ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะ พฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความ ที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้