อายุความสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่
อายุความสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
จากเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ แต่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างถึงการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพียงประการเดียว ดังจะเห็นได้จากข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้อง โจทก์ระบุว่าผิดสัญญาจ้างแรงงาน ละเมิด เรียกค่าเสียหาย และบรรยายฟ้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่ และความรับผิดชอบดำเนินงานตามที่โจทก์มอบหมาย อนุมัติ และให้ความเห็นชอบ และระบุถึงการปฏิบัติงานของจำเลยว่าเป็นการผิดข้อบังคับองค์การสะพานปลา เป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น แม้ว่าผู้อำนวยการโจทก์จะทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ก็ตาม แต่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อเดือนเมษายน 2540 เมื่อนับถึงวันฟ้อง ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8692/2551
http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp
มาตรา 10
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงาน ของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำ ในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
จากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตาม วรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่า ต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่ วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
มาตรา 8
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้ เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่าง ร้ายแรง
สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใด ให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี เป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงาน ของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่อง ลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะ ส่วนของตนเท่านั้น