สัญญาซื้อขายเป็นพ้นวิสัยจากภัยพิบัติ
สัญญาซื้อขายเป็นพ้นวิสัยจากภัยพิบัติ
ภัยพิบัติอันเกิดแก่ทรัพย์สินที่ขายกับหน้าที่ของผู้ซื้อที่จะต้องชำระราคา
สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ซื้อขายกัน กรมมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อนับแต่เวลาเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม มาตรา 455 ประกอบมาตรา 458 คือ มาตรา 455 เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ " มาตรา 458 "กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน" ดังนั้นแม้ทรัพย์สินที่ซื้อขายสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ผู้ขายไม่ได้ การสูญหรือเสียหายนั้นย่อมตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ผู้ซื้อตามมาตรา 370 คือมาตรา 370 ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้
ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบทบัญญัติแห่ง มาตรา 195 วรรคสองนั้นไป " ผู้ซื้อจึงยังมีหน้าทีที่จะต้องชำระราคราให้แก่ฝ่ายผู้ขาย หากผู้ขายได้รับชำระราคาแล้ว ผู้ซื้อก็จะเรียกราคาคืนจากผู้ขายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2506
จำเลยตกลงขายไม้ในโรงเลื่อยให้โจทก์ โดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้วัดไม้ตีตรากรรมสิทธิ์ ได้ไม่ครบตามสัญญาและชำระราคาแล้วนั้นต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ในไม้ได้โอนเป็นของโจทก์แล้ว หากไฟไหม้ไม้นั้นเสียหายไปเพราะเหตุอันจะโทษจำเลยมิได้แล้ว การสูญหรือเสียหายก็ย่อมตกเป็นพับแก่โจทก์
หากมีเงื่อนไขระบุไว้ในสัญญาว่าจำเลยยังต้องรับผิดชอบในไม้ที่ซื้อขายอยู่จนกว่าจะได้ส่งมอบแก่โจทก์ถึงที่ตามที่ได้ตกลงกันไว้อันเป็นการยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 370 และ 460 แล้วโจทก์ก็ต้องยกข้อความในสัญญาข้อนี้ขึ้นกล่าวเป็นประเด็นในฟ้องให้ชัดแจ้ง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายไม้สักให้โจทก์ ซึ่งจะต้องส่งมอบลงเรือส่วนหนึ่งส่งมอบถึงโกดังไม้ของโจทก์อีกส่วนหนึ่ง จำเลยรับเงินไปแล้ว 199,135.65 บาท จำเลยส่งไม้ให้โจทก์ไม่ครบอ้างว่าถูกไฟไหม้ คงค้างอยู่เป็นเงิน 133,886 บาท 04 สตางค์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ทำสัญญาขายไม้แก่โจทก์จริง เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ส่งคนมาวัดไม้ตีตรากรรมสิทธิ์ได้ไม้ครบถ้วนตามสัญญาแล้วแต่ได้สั่งรอรับคำสั่งให้ส่งไปเข้าโกดังหรือลงเรือต่อไป จำเลยรับเงินจากโจทก์ตามฟ้อง แต่ต่อมามีผู้วางเพลิงโรงเลื่อยจำเลยไม้ที่ซื้อขายถูกไฟไหม้ไปบางส่วนเป็นเงิน 133,683.07 บาท ซึ่งจำเลยได้ส่งส่วนที่เหลือไปเข้าโกดังโจทก์แล้วเป็นเงิน 36,730.66 บาท
ในวันชี้สองสถาน โจทก์ส่งสัญญาซื้อขายหมาย จ.1, 2 จำเลยรับว่าได้ทำไว้จริง โจทก์รับว่าจำเลยได้จัดไม้ตามสัญญาตามฟ้องให้โจทก์ครบแล้ว และติดต่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์อย่างที่เคยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ส่งคนไปวัดไม้ตีตรากรรมสิทธิ์ได้ไม้ครบตามสัญญาก่อนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2501 ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2501 มีผู้ลอบวางเพลิงโรงเลื่อยของจำเลย ไฟไหม้ไม้นี้คิดเป็นเงิน 133,683.07 บาท โดยจำเลยไม่ได้ประกันไฟ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจไม้ที่จำเลยเตรียมไว้ตามสัญญาและตีตราของโจทก์ลงไว้ ถือได้ว่าวัตถุแห่งหนี้เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 370 และบ่งตัวทรัพย์แน่นอน กรรมสิทธิ์ในไม้ตกเป็นของโจทก์ตาม มาตรา 460 แล้ว เมื่อไม้เสียหายโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยโจทก์ก็เรียกร้องเอาจากจำเลยไม่ได้ ส่วนเงื่อนไขข้อ 5 ของสัญญาซึ่งมีข้อความว่า ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบไม้ตามสัญญาจนกว่าจะได้ส่งมอบจนถึงที่นั้น ฟ้องของโจทก์อ้างเหตุแต่เพียงในเรื่องจำเลยมิได้ส่งมอบให้แก่โจทก์ มิได้อ้างเหตุให้จำเลยรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 5 จึงไม่มีประเด็น จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายไม้ให้โจทก์แล้วมิได้ส่งมอบไม้ตามสัญญาจึงเรียกให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยรับเกินจำนวนไม้ที่ส่งมอบแล้ว เมื่อปรากฏว่าไม้นั้นคนของโจทก์ได้ตรวจตีตรากรรมสิทธิ์ครบถ้วนแล้ว กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 195, 370 และ 460 ซึ่งต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ในไม้ได้โอนไปเป็นของโจทก์และได้เสียหายเพราะเหตุอันโทษลูกหนี้มิได้ ต้องตกเป็นพับแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับไม้นั้นจากจำเลย ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ตามเงื่อนไขข้อ 5 ในสัญญาจำเลยต้องรับผิดชอบในไม้จนกว่าจะได้ส่งมอบถึงที่ตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นการยกเว้น บทบัญญัติมาตรา 370 และ 460 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยไม่ส่งมอบไม้ตามสัญญาจึงต้องรับผิด เมื่อได้ความว่าการส่งมอบไม้เป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยก็หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่โจทก์ถือว่าจำเลยยังต้องรับผิดอยู่ เพราะมีข้อตกลงกันเป็นอย่างอื่นตามสัญญาข้อ 5 ในฟ้องของโจทก์ก็มิได้ยกข้อความในสัญญาข้อนี้ขึ้นกล่าวเป็นประเด็นให้ชัดแจ้ง เมื่อจำเลยให้การอ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะไม้สูญไป เพราะเหตุที่จำเลยไม่ต้องรับผิดหลังจากที่โจทก์ได้ตรวจคัดเลือกไม้แล้ว และมีการชี้สองสถานโจทก์ก็มิได้ยกความข้อนี้ขึ้นอ้างให้ได้ความชัดเพื่อประเด็นข้อพิพาทเช่นเดียวกันศาลล่างวินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2505
ตกลงซื้อขายผลลำไยในสวนขณะลำไยกำลังออกดอก โดยชำระราคากันบางส่วนแล้วและให้ผู้ซื้อเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาต้นลำไยเองผลได้เสียเป็นของผู้ซื้อถ้าเกิดผลเสียหายอย่างใด ผู้ขายไม่ต้องคืนเงินถ้าได้ผลมากก็เป็นของผู้ซื้อฝ่ายเดียวเป็นการเสี่ยงโชคโดยคำนวณจากดอกลำไยและสุดแต่ดินฟ้าอากาศจะอำนวยให้ดังนี้ ถือว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อขายกันแน่นอนแล้ว โดยคำนวณราคาจากดอกลำไยเป็นหลักต่อมาถ้าต้นลำไยถูกพายุพัดหักหมดผู้ซื้อจะเรียกเงินคืนจากผู้ขายไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาด้วยวาจา จะซื้อผลลำไยจากสวนของจำเลยในราคา 7,600 บาท ได้วางมัดจำไว้ครึ่งหนึ่ง 3,800 บาทราคาที่เหลือจะชำระเมื่อเก็บผลลำไยในฤดูลำไย และมีข้อตกลงว่า หากลำไยไม่ได้ผล จะต้องคืนเงินมัดจำ ต่อมาได้มีพายุพัดแรงจัด ทำให้ลำไยสวนนี้หักเสียหายหมด การชำระหนี้ของจำเลยตกเป็นพ้นวิสัยโจทก์ขอเงินมัดจำคืน จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า การซื้อขายเป็นการตกลงซื้อดอกลำไยบนต้น และเป็นการซื้อขายเด็ดขาด ไม่มีข้อตกลงว่าจะต้องคืนเงินมัดจำ
ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อเป็นผู้ตอบดูแลต้นลำไยเอง การซื้อขายเป็นการเสี่ยงโชค ถ้าลำไยติดผลมากก็ได้กำไรมาก ถ้าติดผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย ก็ขาดทุน และในกรณีที่ลำไยไม่ติดผลก็แล้วกันไป ไม่ต้องคืนเงินมัดจำและได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า ตามขนบธรรมเนียมประเพณีการซื้อขายลำไย เมื่อลำไยออกดอก จะมีผู้ซื้อมาดูและตกลงซื้อขายกัน ตามปกติชำระเงินกันครึ่งหนึ่งก่อน อีกครึ่งหนึ่งชำระเมื่อเก็บผลลำไยแล้ว ถ้าต่อมาลำไยไม่มีผล จะเพราะเหตุใดก็ดี ผู้ขายไม่ต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แล้ว และผู้ซื้อเป้นผู้ไปดูแลต้นลำไย รดน้ำ ค้ำไม้เอง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีเป็นสัญญาจะซื้อขาย พิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีเป็นสัญญาจะซื้อขายจริง แต่เป็นเรื่องโจทก์สละสิทธิเรียกมัดจำคืนเมื่อลำไยไม่มีผล ต้นลำไยถูกพายุพัดหักตาย ก็อยู่ในลักษณะเดียวกับลำไยไม่ติดผลตามธรรมชาติ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกมัดจำคืน พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยรายนี้เป็นสัญญาที่ผู้ซื้อเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาต้นลำไย ผลได้เสียเป็นของผู้ซื้อถ้าเกิดผลเสียหายอย่างใดผู้ขายไม่ต้องคืนเงิน ถ้าได้ผลมากก็เป็นของผู้ซื้อฝ่ายเดียว เป็นการเสี่ยงโชคโดยคำนวณจากดอกลำไย และสุดแต่ดินฟ้าอากาศจะอำนวยให้เป็นผลสักเพียงใด จึงหาใช่สัญญาจะซื้อขายธรรมดาไม่ แม้จำเลยจะแถลงว่าการซื้อขายรายนี้เป็นการซื้อขายลำไย แต่เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้ตั้งแต่ยังเป็นดอกลำไยอยู่ ก็ไม่ทำให้พฤติการณ์ดังกล่าวกลายเป็นสัญญาจะซื้อขายผลลำไยในภายหน้าไปโดยเหตุว่าคู่สัญญาตกลงซื้อขายกันแน่นอนแล้ว โดยคำนวนราคาจากดอกผลลำไยเป็นหลัก ฉะนั้น ต้องถือเอาตามที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ โจทก์จะเรียกเงินคืนจากจำเลยไม่ได้" พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย