คำให้การชั้นสอบสวนแทนการสืบพยาน

คำให้การชั้นสอบสวนแทนการสืบพยาน
โจทก์ไม่สามารถนำตัวเด็กมาเบิกความต่อศาลได้ โจทก์ได้อ้างส่งแถบบันทึกภาพ (วิดีโอ) คำให้การชั้นสอบสวนของเด็กต่อศาลแทนการสืบพยานในชั้นพิจารณาแล้ว ซึ่งกฎหมาย ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การดังกล่าวเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความต่อศาล แต่โจทก์ได้ขอหมายเรียกพยานปากเด็กเป็นพยานเบิกความต่อศาล แต่ไม่ได้ตัวมา โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใด กรณีที่ไม่ได้ตัวเด็กมาเบิกความ ไม่ได้เป็นเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาของศาลได้ ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะรับฟังแต่อย่างใด เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2552

ในการรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนตามมาตรา 133 ทวิ เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย นั้น ต้องมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความต่อศาล กรณีที่โจทก์เพิ่งอ้างในฎีกาถึงสาเหตุที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความ เพราะเกิดความกลัว โดยไม่ปรากฏในชั้นพิจารณาถึงสาเหตุดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลจะรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาของศาลได้


โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, 83

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ไม่สามารถนำตัวเด็กหญิงเปียทิพย์ มาเบิกความต่อศาลได้ก็ตาม แต่โจทก์ได้อ้างส่งแถบบันทึกภาพ (วิดีโอ) คำให้การชั้นสอบสวนของเด็กหญิงเปียทิพย์ไว้ต่อศาลแทนการสืบพยานในชั้นพิจารณาแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การดังกล่าวเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล เห็นว่า ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความต่อศาล แต่ทางพิจารณาของโจทก์ได้ความว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 22 มิถุนายน 2547 โจทก์ได้ขอหมายเรียกพยานปากเด็กหญิงเปียทิพย์เป็นพยานเบิกความต่อศาลด้วย แต่ไม่ได้ตัวมา โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งในรายงานกระบวนพิจารณาก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดถึงเหตุผลที่พยานปากดังกล่าวไม่มาเบิกความต่อศาลเช่นกัน แม้จะปรากฏในฎีกาของโจทก์ถึงสาเหตุการไม่ได้ตัวมาเบิกความ เพราะเกิดความกลัว โดยยืนยันว่าโจทก์ได้แถลงถึงสาเหตุดังกล่าวให้ศาลทราบ ซึ่งถ้าหากเป็นจริงดังฎีกาของโจทก์แล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลชั้นต้นจะไม่จดรายละเอียดคำแถลงของโจทก์ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ข้ออ้างของโจทก์ดังระบุในฎีกาไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น กรณีที่ไม่ได้ตัวเด็กหญิงเปียทิพย์มาเบิกความ ไม่ได้เป็นเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาลได้ ส่วนพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ซึ่งมีนายจิระ ที่ทราบเหตุการณ์จากเด็กหญิงเปียทิพย์และร้อยตำรวจเอกทรงพล พนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำ ซึ่งต่างเบิกความยืนยันเหตุการณ์ที่ทราบจากเด็กหญิงเปียทิพย์ประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิงเปียทิพย์ตามบันทึกคำให้การ ล้วนเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคหนึ่ง และไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะรับฟังแต่อย่างใด เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน


( ประพันธ์ ทรัพย์แสง - มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด - วีระวัฒน์ ปวราจารย์ )
ศาลจังหวัดนนทบุรี - นางสาวศรัณยา เลิศศาสตร์วัฒนา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสมพงศ์ แพนเดช

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ