ครอบครองเพื่อจำหน่าย ยาบ้า 27 เม็ด
ยาเสพติดให้โทษ | การที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนหน่วยการใช้ 27 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 2.694 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.235 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 4 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7884/2552
พนักงานอัยการจังหวัดลำพูน โจทก์
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนจำนวน 27 เม็ด ตามฟ้อง จำเลยไม่อุทธรณ์ ถือว่าข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยร่วมกับพวกครอบครองเมทแอมเฟตมีนตามฟ้องหรือไม่ เป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ร่วมกับพวกครอบครองเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยกับพวกร่วมกันครอบครองมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ เพียง 0.235 กรัม ไม่ถึง 0.375 กรัม จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 66 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจำนวนหน่วยการใช้หรือ น้ำหนักสุทธิ ดังนั้น การที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนหน่วยการใช้ 27 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 2.694 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.235 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 66 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับนายจงรักษ์ร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนจำนวน 27 เม็ด ตามฟ้อง จำเลยไม่อุทธรณ์ แต่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยกับพวกร่วมกันครอบครองมีจำนวนหน่วยการใช้ 27 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 2.694 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.235 กรัม จึงถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกับนายจงรักษ์ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่าย ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยร่วมกับนายจงรักษ์ครอบครองเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ เป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ร่วมกับนายจงรักษ์ครอบครองเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องนั้นเป็นการโต้ เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยกับนายจงรักษ์ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ปรับบทลงโทษมาหรือไม่ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยกับพวกร่วมกันครอบครองมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ เพียง 0.235 กรัม ไม่ถึง 0.375 กรัม จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 66 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และบทบัญญัติมาตราดังกล่าวไม่มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจำนวนหน่วยการใช้หรือ น้ำหนักสุทธิ ดังนั้น การที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนหน่วยการใช้ 27 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 2.694 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.235 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราช บัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 66 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่ลงโทษปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5.
( มนูพงศ์ รุจิกัณหะ - ประทีป เฉลิมภัทรกุล - สมควร วิเชียรวรรณ )
ศาลจังหวัดลำพูน - นายสมศักดิ์ เชื่อมไพบูลย์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นายสุภกิจ กิตสัมบันท์
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 มาตรา 66
มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมี น้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
มาตรา 66 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณ ที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึง ห้าล้านบาท
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัม ขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต