(สัญญาเช่าซื้อรถยนต์) สิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ
สิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้ว แต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ข้อตกลงใดที่กำหนดความรับผิดไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2548
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์จำนวน 1 คัน ราคา 394,704 บาท แบ่งชำระค่าเช่าซื้อรวม 36 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและมีจำเลยที่ 3 ภริยาของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมและยอมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมอีกฐานะหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 4 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนกับให้ร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกันจำนวน 87,712 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันชำระค่าใช้สอยรถยนต์จำนวน 46,500 บาท และชำระอัตราวันละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ได้ติดต่อให้โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวน 87,712 บาท ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อในท้องตลาดไม่น่าจะเกิน 200,000 บาท โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าใช้สอยรถยนต์หรือค่าขาดประโยชน์เนื่องจากโจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินมุ่งหวังในดอกเบี้ยซึ่งเป็นธุรกิจหลักของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 236,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542) ไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทน และร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 40,000 บาท โดยให้ชำระค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนแต่ไม่เกิน 3 เดือน และร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อค้างชำระจำนวน 21,928 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยทั้งสามไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ก็ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 250,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อค้างชำระเป็นเงิน 32,000 บาท และร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน แต่กำหนดให้ไม่เกิน 10 เดือน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ธ-4240 กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ในราคา 394,704 บาท แบ่งชำระค่าเช่าซื้อรวม 36 งวด งวดละเดือน เดือนละ 10,964 บาท ชำระงวดแรกวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 3 งวด ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 4 ประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 8 กันยายน 2541 โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อรวม 8 งวด เป็นเงินจำนวน 87,712 บาท
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญารวม 8 งวด เป็นเงิน 87,712 บาท เป็นเบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วแต่ก่อนเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 8 งวด ส่วนที่สัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย กำหนดว่า “อนึ่ง แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้า สัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืน หรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ” ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน จำเลยทั้งสามไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้
( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - ปัญญา ถนอมรอด - สุภิญโญ ชยารักษ์ )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ มาตรา 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย
มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กันหรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิก สัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้า ครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้นท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง