ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5758/2537
ป.อ. มาตรา 68
ป.วิ.อ. มาตรา 185
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ
ผู้ตายกับพวกถือสิ่งของคล้ายอาวุธปืนเดินเข้ามาหาจำเลยในเขตนากุ้งของจำเลยในเวลาค่ำคืน จำเลยร้องห้ามให้วางสิ่งของดังกล่าว แล้วผู้ตายกับพวกกลับจู่โจมเข้ามาใกล้ประมาณ 2-3 เมตรย่อมมีเหตุให้จำเลยอยู่ในภาวะเข้าใจได้ว่าผู้ตายกับพวกจะเข้ามาทำร้ายและถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงไปทางผู้ตายกับพวกในภาวะและพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ จำเลยนำอาวุธปืนของกลางซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในครอบครองติดตัวไปเฝ้านากุ้งของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่ถือว่าเป็นการพาไปโดยมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ วรรคสอง แม้จำเลยมิได้ฎีกาความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยได้
___________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 33, 91 และริบของกลางด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธอ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 68, 69 ให้จำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิให้ปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ปรับ 500 บาทรวมเป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยซึ่งมาเฝ้านากุ้งโดยมีอาวุธปืนของกลางติดตัวมาด้วย ได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิง 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจพร้อมอาวุธปืนของกลาง คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์และจำเลยว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าหรือเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุดังนี้กรณีฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงไปทางผู้ตายกับพวกในขณะที่ผู้ตายกับพวกจู่โจมเข้ามาในระยะกระชั้นชิดดังที่จำเลยเบิกความ เห็นว่าผู้ตายกับพวกถือสิ่งของคล้ายอาวุธปืนเดินเข้ามาหาจำเลยในเขตนากุ้งของจำเลยในเวลาค่ำคืน จำเลยร้องห้ามให้วางสิ่งของดังกล่าว แล้วผู้ตายกับพวกกลับจู่โจมเข้ามาใกล้ประมาณ 2-3 เมตรดังนี้ ย่อมมีเหตุให้จำเลยอยู่ในภาวะเข้าใจได้ว่า ผู้ตายกับพวกจะเข้ามาทำร้ายและถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงไปทางผู้ตายกับพวก ในภาวะและพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ คดีฟังได้ว่าการที่จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้ตายดังที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาจำเลยฟังขึ้น ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนของกลางตามฟ้องได้ความว่า อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในครอบครอง การที่จำเลยนำอาวุธปืนของกลางติดตัวไปเฝ้านากุ้งของจำเลยเอง ดังนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่ถือได้ว่าเป็นการพาไปโดยมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ที่โจทก์ฟ้องเช่นกัน ถึงแม้ความผิดฐานนี้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางคืนจำเลย
(นาม ยิ้มแย้ม-สุวรรณ ตระการพันธุ์-สุรินทร์ นาควิเชียร)
แหล่งที่มา
สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
แผนก
หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น
หมายเหตุ
ตามหลักกฎหมายอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกา (ModelPenalCode)มาตรา 3.04 บัญญัติหลักเรื่องการป้องกัน (SelfDefence) มีสาระสำคัญสรุปได้ว่าบุคคลใดสามารถกระทำการใดต่อผู้ก่อภัย (Aggressor)เมื่อมีเหตุเกิดกับบุคคลนั้นและมีเหตุสมควรให้เชื่อว่า ตนได้กระทำการตามที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่นต่อภัยที่ละเมิดต่อกฎหมาย เหตุอันสมควรเชื่อที่จะอ้างหลักป้องกันนั้นหมายถึง เชื่อว่าเขาตกอยู่ในภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและใกล้จะถึงและจำต้องกระทำการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อให้พ้นภยันตราย ในการกระทำเพื่อป้องกันนั้นอาจเป็นการใช้กำลังที่ไม่รุนแรงป้องกันต่อภัยที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต หรือใช้กำลังทำร้ายต่อชีวิตเพื่อป้องกันภัยที่ร้ายแรงต่อชีวิต อย่างไรก็ตามการป้องกันนั้นจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ต่อชีวิตผู้อื่นเพื่อป้องกันภัยที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต ตามคดีนี้ จำเลยเชื่อว่ามีภัยซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและใกล้จะถึง ในส่วนความเชื่อของจำเลยหรือของบุคคลที่จะยกหลักป้องกันขึ้นอ้างนั้นจะต้องเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรที่จะทำให้เชื่อเช่นนั้น ซึ่งในกรณีนี้ตาม ModelPenalCodeมาตรา 3.04(2)(6) กำหนดว่าบุคคลที่จะอ้างหลักป้องกันนั้นต้องแสดงให้เห็นว่า เขามีความเชื่อว่าการกระทำใด ๆ อันร้ายแรงต่อชีวิตเพื่อเป็นการป้องกันนั้นเป็นการจำต้องกระทำ กฎหมายอาญาเรื่องป้องกันของรัฐนิวยอร์คนั้น ไม่ได้บัญญัติตาม ModelPenalCode หากแต่กำหนดขึ้นเองว่า การที่จำเลยจะอ้างหลักป้องกันได้นั้นจะต้องมิใช่เกิดจากความเชื่อของจำเลยโดยลำพังว่ามีภัยดังกล่าวเกิดขึ้นความเชื่อนั้นจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ขณะเกิดเหตุ ประกอบกับความเชื่อของวิญญูชน โดยทั่วไปในขณะเกิดเหตุนั้น เชื่อด้วยว่าตนตกอยู่ในภาวะอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย (คดี People.Goetz) นภาพรลิ้มศิริชัยกุล
หมายเหตุ
หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อ ที่นี้เลย Tel/Line id : 089-2142456 (ทนายสอง ประธานชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)
Line id : lawyer_2 ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)
ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาข้อกฎหมาย คำพิพากษา ได้ที่ www.ปรึกษาคดีฟรี.com