เงินเดือนข้าราชการไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรืออายัดไม่ได้จริงหรือไม่?

เงินเดือนข้าราชการไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรืออายัดไม่ได้จริงหรือไม่?

ข้าราชการฟังทางนี้ครับ การเป็นข้าราชการนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการองค์กรอิสระที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ถือว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติ มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังมีความคุ้มกันทางกฎหมายถ้าทำงานโดยสุจริต และปฏิบัติโดยชอบ และเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานอัยการในฐานะทนายแผ่นดิน จะดำเนินการเป็นทนายแก้ต่างหรือว่าต่างให้

นอกจากนี้ ถ้าข้าราชการท่านใด ไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นแล้วไม่ใช้หนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิไปฟ้องศาล เมื่อชนะคดีแล้ว เพื่อให้มีปฏิบัติการชดใช้หนี้ตามคำพิพากษา ก็จะต้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปทำการยึดทรัพย์ข้าราชการท่านนี้มาขายทอดตลาดนำเงิน มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ คือ ข้าราชการไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยึดได้ มีเพียงเงินเดือน ที่ได้รับทุกเดือนจากทางราชการเท่านั้น เจ้าหนี้จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดหรืออายัดเงินเดือนจากหน่วยราชการที่จ่ายเงินเดือน ให้มาจ่ายแก่เจ้าหนี้ได้หรือไม่

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 บัญญัติว่า เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัดหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จ ที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชิวิตของบุคคลเหล่านั้น ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี หมายความว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะยึดหรืออายัดเงินเดือนของข้าราชการคนนั้นได้เลยตามกฎหมาย ดังนั้น ถ้าข้าราชการเป็นหนี้แล้วไม่ใช้หนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยึดหรืออายัดเงินเดือนได้ตามกฎหมายดังกล่าว

ในปัจจุบันจึงพบว่าปัญหาของข้าราชการที่พบมากที่สุดคือการเป็นหนี้ เมื่อมีกฎหมายคุ้มครองดังกล่าว ข้าราชการส่วนใหญ่จึงพูดเสมอว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อยากได้ ฟ้องเอา”
แต่มีข้าราชการบางรายกลับไปสร้างปัญหาครอบครัวโดย ไม่อุปการะเลี้ยงดู ภรรยาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ไม่มีเงินในการดำรงชีวิตและเล่าเรียนศึกษา ภรรยาด้วยตนเองและพนักงานอัยการสามารถฟ้องคดีแทนบุตร เพื่อฟ้องบิดาซึ่งเป็นข้าราชการต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ และเมื่อศาลพิพากษาให้บิดา จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแล้ว บิดาซึ่งเป็นข้าราชการจะยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 มาอ้างเพื่อไม่ยินยอมให้ศาลยึดหรืออายัดเงินเดือนได้หรือไม่

ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 114 บัญญัติว่า ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพ สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา มาตรา 286 (1) (2) (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเป็นจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จำนวนบุพการีและผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

นั้นแสดงว่า ถ้าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพ แล้วศาลมีอำนาจยึดและอายัดเงินเดือนของข้าราชการท่านนี้ นำมาให้แก่ภรรยาและบุตรได้ตามกฎหมาย

ดังนั้น ข้าราชการทั้งหลายจึงพึงสำนึกไว้เสมอว่า เป็นหนี้อย่างอื่นเจ้าหนี้ยึดไม่ได้ แต่ถ้าเป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายครอบครัวแล้ว เงินเดือนของท่านอาจถูกยึดหรืออายัดตามคำสั่งศาลได้ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน



พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ได้บัญญัติให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งในคดีครอบครัว ได้แก่ คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาล หรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว แล้วแต่กรณี ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในการบังคับคดีต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งศาลที่ออกหมายบังคับคดีต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยหมายบังคับคดีอาจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึด หรืออายัดทรัพย์ หรือให้ส่งมอบการครอบครอง หรือให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นเรื่อง ๆ ไป ในการบังคับคดีตามคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวจะเป็นคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู (ระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตร) ซึ่งผู้มีหน้าที่ต้องให้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) จะต้องเป็นผู้ที่ถูกบังคับคดีตามหมายบังคับคดี ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นจะเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตร โดยสามารถเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาล
อาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี และเมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์ รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้ ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น ถ้าไม่มีการตกลงกันและมีเหตุพิเศษเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ และศาลเห็นสมควรจะกำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้ และในกรณีขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่น ให้ไปอยู่ในสถานศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้ ซึ่งเมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวออกหมายบังคับคดีแจ้งมายังเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมาดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้ โดยวิธีการบังคับคดีที่ปฏิบัติกันจะเป็นการขออายัดสิทธิเรียกร้องอันเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เช่น การอายัดเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่น ๆ การอายัดเงินฝากในธนาคาร เป็นต้น การอายัดสิทธิเรียกร้องขอให้ชำระเงินจำนวนหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “การอายัดเงิน” จะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งห้ามบุคคลภายนอกที่ต้องส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 (3) มาตรา 310 ทวิ มาตรา 311 ซึ่งการอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ตามปกติเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่สามารถอายัดเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัดหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการหรือลูกจ้างในหน่วยราชการได้ เนื่องจากเงินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา286 (2) แต่เนื่องจากคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวได้มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 หมวด 10 การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัว มาตรา 114 ความว่า “ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพนั้น สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามมาตรา 286 (1) (2 ) และ (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเป็นจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จำนวนบุพการี และผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย

การอายัดเงิน ซึ่งเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัว

เจ้าพนักงานบังคับคดีจะกำหนดจำนวนเงินที่อายัดตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด ซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถร้องขอให้ลดจำนวนเงินที่อายัดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ เนื่องจากอำนาจในการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาจากฐานะทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ดังนั้นหากลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวประสงค์จะขอลดจำนวนเงินที่ถูกอายัดจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล พร้อมแสดงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งศาลเท่านั้นจะเป็นผู้พิจารณา เมื่อเทียบกับในคดีทั่ว ๆ ไป เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหนังสืออายัด หรือออกคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามมาตรา 286 (1) และ (3) เช่น เงินเดือน หรือค่าจ้างเบี้ยเลี้ยงชีพ เงินรายได้ต่าง ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินที่อายัดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 วรรค 2 วรรค 3 หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้แทนยื่นคำร้องขอลดการอายัดเงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาเหตุผลความจำเป็น พร้อมหลักฐานประกอบการพิจารณาภายใต้หลักกฎหมายของมาตรา 286 วรรค 2 หากเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่ามีเหตุอันควรก็จะมีคำสั่งลดการอายัดให้ หากจำเลยขอลดอายัดเป็นจำนวนมาก (เกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่แจ้งอายัด) และไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสอบถามเจ้าหนี้ (โจทก์) ก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ โดยให้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนด หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้แทนแถลงไม่คัดค้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีจะพิจารณาลดอายัดตามความประสงค์ของจำเลย หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้แทนไม่มาแถลงภายในเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะพิจารณาว่าสมควรจะลดอายัดให้หรือไม่เพียงใด แล้วพิจารณามีคำสั่งลดอายัดให้ต่อไป หากเจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรลดอายัดจะมีคำสั่งยกคำร้อง และหากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดในการอายัดหรือ ลดการอายัด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 วรรค 3 – 4

ดังนั้น ในส่วนของการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว และประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ในส่วนของการบังคับคดีกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ