เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1449/2513

ป.อ. มาตรา 78

คำให้การจำเลยที่ว่า ผู้ตายจะใช้ปืนยิงจำเลย จำเลยจึงยิงป้องกันตัวและคำเบิกความของจำเลยขยายความข้อนี้มากขึ้น ไม่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เพราะมิได้ให้ความรู้แก่ศาลที่จะช่วยให้การวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นไปโดยถูกต้องตามความผิดหรือการกระทำของจำเลย ตรงข้ามจำเลยกลับอ้างว่าเป็นความผิดของผู้ตายที่ใช้ปืนจะยิงจำเลยก่อน ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยและชี้ขาดว่าข้ออ้างของจำเลยไม่เป็นความจริง จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ

การที่จำเลยยิงผู้ตายแล้วไปมอบตัวแก่เจ้าพนักงานตำรวจพร้อมกับมอบปืนที่ใช้ยิงให้ด้วย โดยแจ้งเหตุว่าจำเลยยิงผู้ตายบาดเจ็บสาหัสไม่ได้แจ้งว่าผู้ตายจะยิงจำเลย จำเลยจึงยิงเป็นการป้องกันตัวซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จมาแต่แรก ถือได้ว่าเป็นการลุแก่โจทก์ต่อเจ้าพนักงานมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ได้

___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288

จำเลยให้การว่า ผู้ตายใช้ปืนจะยิงจำเลย จำเลยจึงยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตัว

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยกับผู้ตายได้ท้าทายจะยิงกันก่อนที่จำเลยจะยิงผู้ตายเป็นการสมัครใจจะต่อสู้กัน อ้างว่าป้องกันไม่ได้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังว่า จำเลยยิงผู้ตายโดยผู้ตายมิได้ชักปืนขึ้นมา แต่จำเลยยิงแล้วได้ไปมอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยมิได้หลบหนี ถือว่าจำเลยลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน เป็นเหตุบรรเทาโทษและคำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา พิพากษาแก้ให้ลดโทษ1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 13 ปี 4 เดือน

โจทก์ฎีกาว่า ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ขอให้ลงโทษตามศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาว่า ยิงเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า ไม่เป็นการป้องกันดังจำเลยต่อสู้

ส่วนเหตุบรรเทาโทษ 2 ข้อ คือจำเลยยิงผู้ตายแล้วขับรถไปมอบตัวแก่ตำรวจโดยมิได้หลบหนี เป็นการลุแก่โทษ และคำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การจำเลยที่ว่า ผู้ตายใช้ปืนจะยิงจำเลย จำเลยจึงยิงป้องกันตัว และคำเบิกความของจำเลยขยายความข้อนี้มากขึ้นดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เพราะมิได้ให้ความรู้แก่ศาลที่จะช่วยให้การวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้เป็นไปโดยถูกต้องตามความผิดหรือการกระทำของจำเลย ตรงข้ามจำเลยกลับอ้างว่าเป็นความผิดของผู้ตายที่ใช้ปืนจะยิงจำเลยก่อน ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยและชี้ขาดว่าข้ออ้างของจำเลยไม่เป็นความจริง จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษในข้อนี้

ส่วนข้อ “ลุแก่โทษ” นั้น ตามพจนานุกรมแปลว่า “บอกความผิดของตนเพื่อขอความกรุณา” ถ้าจำเลยขับรถไปแจ้งความแก่ตำรวจว่าผู้ตายใช้ปืนจะยิงจำเลย จำเลยจึงจะยิงป้องกันตัว ซึ่งไม่เป็นความจริงก็ไม่เป็นการลุแก่โทษอันจะมีเหตุบรรเทาโทษ แต่คดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยขับรถไปมอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจพร้อมกับมอบปืนที่ใช้ยิงให้ด้วย โดยแจ้งเหตุว่าจำเลยยิงผู้ตายมีบาดเจ็บสาหัสตามคำร้อยตำรวจโทอนันต์พยาน โดยจำเลยมิได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จมาแต่แรก จึงถือได้ว่าเป็นการลุแก่โทษ แต่จำเลยให้การชั้นสอบสวนเป็นต่อสู้คดีอย่างชั้นศาลซึ่งไม่เป็นความจริง จึงไม่ควรลงโทษให้ถึง1 ใน 3 ควรลดโทษให้เพียง 1 ใน 4

พิพากษาแก้ให้ลดโทษจำเลย 1 ใน 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุกจำเลย 15 ปี

(วินัย ทองลงยา-ทองคำ จารุเหติ-ประพนธ์ ศาตะมาน)

แหล่งที่มา

กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

แผนก

หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น

หมายเหตุ

หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อ ที่นี้เลย  Tel/Line id : 089-2142456 (ทนายสอง ประธานชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)

Line id : lawyer_2  ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)

ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาข้อกฎหมาย คำพิพากษา ได้ที่ www.ปรึกษาคดีฟรี.com

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ