องค์ประกอบของนิติกรรม | การถอนฟ้องเป็นนิติกรรม | การร้องทุกข์ไม่เป็นนิติกรรม

มาตรา 149 นิติกรรมหมายความว่าการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
องค์ประกอบของนิติกรราม ตาม มาตรา 149 คือ 1. การแสดงเจตนา 2. ชอบด้วยกฎหมาย 3. มุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ 4. มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2477 การขอถอนฟ้องในคดีอาญาถือว่าเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งในคดีความผิดต่อส่วนตัว ผู้เยาว์ไม่มีอำนาจขอถอนฟ้องคดีได้ก่อนได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม การร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานในเรื่องเกี่ยวแก่การกระทำทางอาญาไม่นับว่าเป็นนิติกรรมตามประมวลแพ่ง

คดีนี้ศาลเดิมพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามกฎหมายอาชญา ม.243
ระหว่างอุทธรณ์เจ้าทุกข์ยื่นคำร้องขอถอนคำกล่าวหาจำเลยและคำเบิกความเป็นพยานเสียทั้งหมด
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ช. เจ้าทุกข์มีอายุเพียง 15 ปี แลยังอยู่ในความปกครองของ จ. เจ้าทุกข์จะมาร้องขอถอนข้อหาโดยพละการตนเองหาได้ไม่ จึงพิพากษายืนตามศาลเดิม
จำเลยฎีกาว่าเรื่องนี้เป็นคดีส่วนตัวตามกฎหมาย ช.ย่อมมีอำนาจถอนฟ้องได้ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
ศาลฎีกาเห็นว่าการถอนฟ้องเป็นนิติกรรมตามประมวลแพ่ง ม.112 เพราะเป็นการระงับซึ่งสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อไป ไม่เหมือนการร้องทุกข์ซึ่งไม่ใช่นิติกรรมตามประมวลแพ่งฯ ตามประมวลแพ่งฯ ม.21 ช.ยังไม่บรรลุนิติภาวะหามีอำนาจขอถอนฟ้องโดยมิได้รับความยินยอมของผุ้ปกครองได้ไม่ และเห็นว่าการขอถอนคดีมิได้อยู่ในจำพวกข้อยกเว้นในมาตรา 22 ถึง 24 จึงให้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 247/2548

โจทก์จำเลยกับพวกร่วมกันเล่นแชร์โดยโจทก์เป็นนายวงแชร์ ตามข้อตกลงเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ยึดถือไว้ภายหลังที่จำเลยได้รับเงินแชร์จากโจทก์ ดังนั้น ข้อความในสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกก็คือจำนวนเงินค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องชำระคืนแก่โจทก์ พฤติการณ์เท่ากับว่าจำเลยได้ยินยอมให้โจทก์กรอกจำนวนเงินค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระคืนตามความเป็นจริงนั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยจะต้องชำระคืนเงินค่าแชร์เป็นจำนวน 82,800 บาท และโจทก์กรอกจำนวนเงินกู้ลงในสัญญากู้ตรงกับมูลหนี้ที่แท้จริง สัญญากู้จึงไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้แก่โจทก์

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ 82,800 บาท คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย ชำระทุกเดือน ชำระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ภายหลังจำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์บางส่วน โจทก์ทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 109,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 82,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ จำเลยและพวกร่วมกันเล่นแชร์ 36 มือ โจทก์เป็นนายวงแชร์ แชร์มือละ 1,000 บาท ประมูลแชร์เดือนละ 1 ครั้ง จำเลยประมูลแชร์ได้ในเดือนที่ 5 เสียค่าดอก 1,671 บาท โจทก์ให้จำเลยลงชื่อช่องผู้กู้ในสัญญากู้โดยมิได้กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยผ่อนค่าแชร์ทั้งหมด 31 งวด รวมเป็นเงิน 82,801 บาท ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้คืนสัญญากู้ให้จำเลยกลับนำสัญญากู้มากรอกข้อความโดยที่จำเลยไม่ทราบและจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ สัญญากู้เป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 79,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จำเลยกับพวกร่วมกันเล่นแชร์ โดยโจทก์เป็นนายวงแชร์ แชร์มือละ 1,000 บาท จำเลยประมูลแชร์ได้ยอมเสียดอกเบี้ย 1,671 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระ 82,801 บาท ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญากู้เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความว่า เมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ยึดถือไว้ภายหลังที่จำเลยได้รับเงินค่าแชร์จากโจทก์ในฐานะนายวงแชร์ ดังนั้นข้อความในสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกก็คือจำนวนเงินค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องชำระคืนแก่โจทก์ในฐานะนายวงแชร์ พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวก็เท่ากับว่าจำเลยได้ยินยอมให้โจทก์กรอกจำนวนเงินค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระคืนตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งตามพยานหลักฐานแห่งคดีได้ความว่า จำเลยจะต้องชำระคืนเงินค่าแชร์เป็นจำนวน 82,800 บาท เมื่อโจทก์กรอกจำนวนเงินกู้ลงในสัญญากู้ว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 82,800 บาท ซึ่งตรงกับมูลหนี้ที่แท้จริง สัญญากู้จึงไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ดังกล่าวแก่โจทก์ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการต่อมาว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ จำเลยนำสืบลอย ๆ เพียงว่าจำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยไม่ปรากฏหลักฐานการรับชำระหนี้จากโจทก์ หรือโจทก์ได้เวนคืนสัญญากู้ให้แก่จำเลย ข้อนำสืบของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ