สิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ | ย้ายสถานประกอบกิจการ

สิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ | ย้ายสถานประกอบกิจการ
นายจ้างออกระเบียบเรื่อง การลา กำหนดว่า "ลูกจ้างผู้ใดประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ให้ยื่นใบลาออกตามแบบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในงวดหรือเดือนถัดไปข้างหน้า" กรณีที่นายจ้างต้องเปิดดำเนินกิจการโรงงานผลิตที่สาขานครพนมเพียงแห่งเดียว นายจ้างมีคำสั่งแจ้งให้ลูกจ้างซึ่งไม่ได้แสดงความจำนงจะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมทราบว่าผู้ให้เช่าอาคารได้บอกเลิกสัญญาเช่าและให้นายจ้างส่งมอบอาคารที่เช่าคืนทันที ลูกจ้างทำหนังสือชี้แจงเหตุขัดข้องว่า ไม่สามารถไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมเนื่องจากมีปัญหาทางด้านครอบครัว จึงขอใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง ลูกจ้างยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาว่า ที่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานที่สาขานครพนมและลูกจ้างจะขอใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแล้วจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ หรือไม่ คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานมีคำวินิจฉัยที่ 1/2546 ว่า การที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวต่อให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างดังนั้น ลูกจ้าง มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชย นายจ้างได้รับแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าว และนายจ้างไม่ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลแรงงานกลาง

คดีนี้นายจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างอ้างว่าลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และระเบียบการลาของนายจ้างที่ระบุว่าลูกจ้างที่ประสงค์จะลาออกต้องยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้างในงวดหรือเดือนถัดไป ลูกจ้างต่อสู้ว่าบอกเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว และคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานได้วินิจฉัยตามคำสั่งที่ 1/2546 ว่าการย้ายสถานประกอบกิจการของนายจ้างเป็นกรณีที่ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ การบอกเลิกสัญญาจ้างของลูกจ้างจึงไม่ใช่การบอกเลิกตามกฎหมายและระเบียบที่นายจ้างกล่าวอ้าง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่า ลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างและครอบครัวหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างของลูกจ้างทั้งสิบสองที่นายจ้างนำมาฟ้องนั้น คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานได้วินิจฉัยตามคำสั่งที่ 1/2546 แล้วว่า การที่นายจ้างย้ายโรงงานและสำนักงานแห่งใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ไปรวมกับสำนักงานสาขาที่จังหวัดนครพนม เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว หากนายจ้างไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจ นายจ้างไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานจึงเป็นที่สุดและย่อมผูกพันโจทก์

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6881/2549

คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่โจทก์ย้ายโรงงานและสำนักงานแห่งใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ไปรวมกับสำนักงานสาขาที่จังหวัดนครพนม เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว จำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นลูกจ้างมิสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยตามมาตรา 120 วรรคสี่ โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานจึงเป็นที่สุดและย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น และการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรา 120 วรรคห้า ซึ่งยุติไปแล้วมาอ้างในชั้นนี้

จำเลยทั้งสิบสองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 582 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 2 เรื่อง การลา อันเป็นกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับแก่การบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีทั่วไป

คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยเรียกโจทก์ทั้งสิบสองสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสิบสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นลูกจ้างโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นลูกจ้างรายวัน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นไปตามที่ระบุในคำฟ้อง นอกจากค่าจ้างดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ยังได้รับค่ารถและค่าอาหารคนละวันละ 14 บาท กับได้รับค่าเบี้ยขยันเฉลี่ยคนละวันละ 4.50 บาท โจทก์กำหนดจ่ายค่าจ้าง ค่ารถ ค่าอาหาร และค่าเบี้ยขยันให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน ส่วนจำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 เป็นลูกจ้างรายเดือนเงินเดือนอัตราสุดท้ายของจำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 เป็นไปตามที่ระบุในคำฟ้อง นอกจากเงินเดือนดังกล่าว จำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 ยังได้รับค่าครองชีพคนละเดือนละ 600 บาท โจทก์กำหนดจ่ายเงินเดือนและค่าครองชีพให้จำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 ทุกวันสิ้นเดือน สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ไม่มีกำหนดระยะเวลา โจทก์มีระเบียบฉบับที่ 2 เรื่อง การลา กำหนดว่าลูกจ้างผู้ใดประสงค์จะออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ ให้ยื่นใบลาออกตามแบบที่โจทก์กำหนดต่อผู้บังคับบัญชาของตนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้างในงวดหรือเดือนถัดไปข้างหน้า ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 12 ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างโดยส่งให้โจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โจทก์ได้รับวันที่ 26 มิถุนายน 2545 แต่จำเลยที่ 12 มิได้กำหนดวันที่มีผลเลิกสัญญาไว้ สัญญาจ้างจึงมีผลนับแต่วันเวลาที่หนังสือแสดงเจตนาเลิกจ้างไปถึงโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 12 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 26 มิถุนายน 2545 ครั้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง และวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กำหนดให้หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป แต่การบอกเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างให้โจทก์ทราบไม่ถึง 15 วัน ก่อนถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้างตามระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 2 เรื่องการลา การบอกเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และระเบียบการลาของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทุกคนเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นลูกจ้างรายวัน ส่วนจำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 เป็นลูกจ้างรายเดือน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ได้รับค่าจ้าง ค่ารถ ค่าอาหารและเบี้ยขยัน และจำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 ได้รับเงินเดือนและค่าครองชีพตามจำนวนที่ระบุในคำฟ้อง โจทก์จ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน และโจทก์จ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 ทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ได้ปิดกิจการชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างให้จำเลยทุกคนในอัตราร้อยละ 50 ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้บอกเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากโจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวและคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน มีคำสั่งที่ 1/2546 ลงวันที่ 14 มกราคม 2546 ว่า การย้ายสถานประกอบการดังกล่าวของโจทก์เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 บอกเลิกสัญญาจ้างจึงมิใช่เป็นการบอกเลิกตามระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 2 เรื่อง การลา และมิใช่เป็นการบอกเลิกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง แต่เป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรา 120 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
       ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
              โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

               ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์หลายอย่างรวมทั้งประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก โจทก์มีสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และยังมีสำนักงานและโรงงานผลิตสาขาอยู่ที่จังหวัดนครพนม อาคารซึ่งใช้เป็นสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตที่กรุงเทพมหานครนั้น โจทก์เช่าจากบริษัทพี.แอล.พี (1987) จำกัด ตั้งแต่ปี 2532 สัญญาเช่ามีหลายฉบับ แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาเช่าตามสัญญาแต่ละฉบับแล้วโจทก์กับผู้ให้เช่าได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่เรื่อยมา สัญญาเช่าฉบับสุดท้ายมีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยทั้งสิบสองทำงานอยู่ที่โรงงานผลิตกรุงเทพมหานคร โจทก์มีระเบียบฉบับที่ 2 เรื่อง การลา ข้อ 7 กำหนดว่า "ลูกจ้างผู้ใดประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ให้ยื่นใบลาออกตามแบบที่บริษัทพิจารณาต่อผู้บังคับบัญชาของตนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในงวดหรือเดือนถัดไปข้างหน้า" ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2544 โจทก์กำหนดวันเปิดอาคารโรงงานผลิตที่สาขานครพนม วันที่ 25 ตุลาคม 2544 โจทก์ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่ที่โรงงานผลิตกรุงเทพมหานคร ทราบว่าผู้ใดประสงค์จะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมให้แสดงความจำนง และในวันที่ 22 มกราคม 2545 โจทก์ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างซึ่งไม่ประสงค์จะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมกรอกแบบสอบถามถึงผลกระทบต่อการดำรงชีพของลูกจ้างหรือครอบครัว กรณีที่โจทก์ต้องเปิดดำเนินกิจการโรงงานผลิตที่สาขานครพนมเพียงแห่งเดียว จำเลยทั้งสิบสองกรอกแบบสอบถามว่า ไม่ประสงค์จะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมเพราะมีผลกระทบต่อการดำรงชีพตามปกติของจำเลยทั้งสิบสองและครอบครัว วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 โจทก์แจ้งให้ลูกจ้างทราบว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาเช่าอาคารซึ่งโจทก์ใช้เป็นสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตที่กรุงเทพมหานคร และสัญญาเช่าจะครบกำหนดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จึงให้ลูกจ้างที่แสดงความจำนงจะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมไปทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โจทก์มีคำสั่งที่ 21/2545 แจ้งให้ลูกจ้างซึ่งไม่ได้แสดงความจำนงจะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมทราบว่าผู้ให้เช่าอาคารได้บอกเลิกสัญญาเช่าและให้โจทก์ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนทันที โจทก์จึงขอให้ลูกจ้างที่ไม่ได้แสดงความจำนงจะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนม หากต้องการจะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมก็ให้ไปทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป หากลูกจ้างคนใดมีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมก็ให้ลูกจ้างคนนั้นทำหนังสือชี้แจงเหตุขัดข้องภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2545 เวลา 16 นาฬิกา หากลูกจ้างคนใดไม่ทำหนังสือชี้แจงภายในเวลาที่กำหนด ถือว่าลูกจ้างคนนั้นไม่มีเหตุขัดข้อง และยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ฉบับนี้ทุกประการ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ทำหนังสือชี้แจงเหตุขัดข้องว่า ไม่สามารถไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมเนื่องจากมีปัญหาทางด้านครอบครัว ส่วนจำเลยที่ 12 ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2545 ถึงโจทก์ชี้แจงเหตุขัดข้องว่าไม่ประสงค์จะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมเนื่องจากจำเลยที่ 12 มีครอบครัวและอาศัยอยู่ที่จังหวัดชลบุรี กับบุตรก็มีอายุน้อย จึงขอใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 โดยให้มีผลในวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ครั้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2545 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้ลูกจ้างซึ่งประสงค์จะไปทำงานที่โรงงานผลิตสาขานครพนมและได้ทำหนังสือชี้แจงเหตุขัดข้องไว้แล้วยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาว่า เหตุผลที่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานที่สาขานครพนมและลูกจ้างจะขอใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแล้วจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างต่อโจทก์ และวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ระบุให้การบอกเลิกสัญญาจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป หลังจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 กับพวกได้ยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาว่า การย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวของโจทก์ ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2546 คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานมีคำวินิจฉัยที่ 1/2546 ว่า การที่โจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวต่อให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 กับพวก ดังนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 กับพวก มิสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลแรงงานกลาง

โจทก์อุทธรณ์สรุปสาระสำคัญได้ว่า การที่โจทก์มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อยู่ก่อนแล้วสองแห่งคือที่กรุงเทพมหานครและที่จังหวัดนครพนม แล้วโจทก์ปิดโรงงานผลิตที่กรุงเทพมหานคร คงเปิดดำเนินการผลิตที่โรงงานจังหวัดนครพนมเพียงแห่งเดียว ดังนั้น การที่โจทก์สั่งให้ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ที่โรงงานผลิตที่กรุงเทพมหานครรวมทั้งจำเลยทั้งสิบสองไปทำงานที่โรงงานจังหวัดนครพนมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารงานในฐานะนายจ้าง ไม่ใช่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีพตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 และขณะที่จำเลยทั้งสิบสองยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน จำเลยทั้งสิบสองไม่ได้เป็นลูกจ้างโจทก์แล้ว จึงไม่ใช่เป็นการยื่นคำขอตามมาตรา 120 วรรคสาม ทั้งการบอกเลิกสัญญาจ้างของจำเลยทั้งสิบสองไม่ได้ใช้สิทธิภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการหรือนับแต่วันที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานหรือคำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด ตามมาตรา 120 วรรคห้า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานที่ 1/2546 ลงวันที่ 14 มกราคม 2546 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายมานำอ้างในคดีนี้ไม่ได้ และคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบสองอ้างว่าจำเลยทั้งสิบสองบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และระเบียบการลาของโจทก์ที่ระบุว่าลูกจ้างที่ประสงค์จะลาออกต้องยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้างในงวดหรือเดือนถัดไป จำเลยทั้งสิบสองต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสิบสองบอกเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากโจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว และคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานได้วินิจฉัยตามคำสั่งที่ 1/2546 ลงวันที่ 14 มกราคม 2546 ว่าการย้ายสถานประกอบกิจการของโจทก์เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสิบสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 การบอกเลิกสัญญาจ้างของจำเลยทั้งสิบสองจึงไม่ใช่การบอกเลิกตามกฎหมายและระเบียบที่โจทก์กล่าวอ้าง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่า จำเลยทั้งสิบสองได้บอกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากโจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของจำเลยทั้งสิบสองและครอบครัวหรือไม่ และการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 2 เรื่อง การลา หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างของจำเลยทั้งสิบสองที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานได้วินิจฉัยตามคำสั่งที่ 1/2546 แล้วว่า การที่โจทก์ย้ายโรงงานและสำนักงานแห่งใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ไปรวมกับสำนักงานสาขาที่จังหวัดนครพนม เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว จำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 ซึ่งหากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวโจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยตามมาตรา 120 วรรคสี่ ปรากฏว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 แล้วโจทก์ไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานจึงเป็นที่สุดและย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์หามีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว และประเด็นเรื่องจำเลยทั้งสิบสองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรา 120 วรรคห้า ซึ่งยุติไปแล้วในชั้นคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานมาอ้างในชั้นนี้ได้ไม่ ดังนั้น เมื่อเป็นที่ยุติว่าโจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวและจำเลยทั้งสิบสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างของจำเลยทั้งสิบสองจึงเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และระเบียบของโจทก์ฉบับที่ 2 เรื่อง การลา อันเป็นกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับแก่การบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีทั่วไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟังไม่ขึ้น"
                 พิพากษายืน.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกัน นานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าว ล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้าง หน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
     อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสีย ให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอก กล่าวนั้นทีเดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันที ก็อาจทำได้

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
     มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
    ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่าย หนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราว ถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน
     ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตาม มาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
     การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้าง ให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอก กล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตาม มาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตาม มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และ มาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     มาตรา 120 ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตาม ปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่ น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตาม มาตรา 118
     ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย
     ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการว่าเป็นกรณีที่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตาม วรรค 1 ไม่
     คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้เป็นที่สุดเว้นแต่นายจ้างหรือลูกจ้างจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ในกรณีที่นายจ้างเป็น ฝ่ายดำเนินคดีไปสู่ศาลนายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างที่ยื่นคำขอตามวรรคสามจึงจะฟ้องคดีได้
     การบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรานี้ลูกจ้างต้องใช้สิทธิภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ หรือนับแต่วันที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานหรือคำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ