สัญญาเช่าซื้อกับสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง
สัญญาเช่าซื้อกับสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง
สัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะขายทรัพย์ที่เช่าเมื่อครบสัญญาเช่าผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หากมิได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไข
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2548
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์ 1 คัน ไปจากโจทก์ในราคา 6,393,600 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 447,552 บาท จำเลยตกลงชำระค่าเช่าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน เดือนละ 142,542 บาท โดยแยกเป็นค่าเช่าเดือนละ 133,200 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 9,324 บาท รวม 48 เดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 6 กรกฎาคม 2538 และทุกวันที่ 6 ของเดือนถัดไป เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าและหากจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคา 934,579.44 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ไปแล้วในวันทำสัญญาเช่าแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายถึงลักษณะของการเช่าแบบลิสซิ่งว่าเป็นสัญญาแบบใด มีผลใช้บังคับได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้อยู่แล้วว่าโจทก์นำรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 เช่าโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดและหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญา จำเลยที่ 1 มีสิทธิซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ตามราคาที่ระบุไว้ในสัญญา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
สัญญาเช่าแบบลิชซิ่งตามคำฟ้องโจทก์นั้นโจทก์ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อครบสัญญาเช่าแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 934,579.44 บาท หากมิได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ามิได้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าทันที สัญญานี้จึงมิใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 572 เพราะสัญญาเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที ดังนั้น สัญญาเช่าตามคำฟ้องโจทก์จึงหาใช่สัญญาเช่าซื้อที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,065,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 172,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาเช่าแบบใด มีผลบังคับได้อย่างไร แต่โจทก์หาได้บรรยายไม่ ทำให้จำเลยทั้งสองไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ หมายเลขทะเบียน 6 ฬ ? 1999 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 6,393,600 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 447,552 บาท จำเลยตกลงชำระค่าเช่าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน เดือนละ 142,542 บาท โดยแยกเป็นค่าเช่าเดือนละ 133,200 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 9,324 บาท รวม 48 เดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 6 กรกฎาคม 2538 และทุกวันที่ 6 ของเดือนถัดไป เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าและหากจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคา 934,579.44 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ไปแล้วในวันทำสัญญาเช่า ซึ่งถึงแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายถึงลักษณะของการเช่าแบบลิสซิ่งว่าเป็นสัญญาแบบใด มีผลใช้บังคับได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้อยู่แล้วว่าโจทก์นำรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 เช่าโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดและหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญา จำเลยที่ 1 มีสิทธิซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ตามราคาที่ระบุไว้ในสัญญาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่า สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามคำฟ้องโจทก์เป็นสัญญาเช่าซื้อเมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 118 จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามคำฟ้องโจทก์นั้นโจทก์ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อครบสัญญาเช่าแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 934,579.44 บาท หากมิได้ผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาเช่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ามิได้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าทันที สัญญานี้จึงมิใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมา เพราะสัญญาเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที ดังนั้น สัญญาเช่าตามคำฟ้องโจทก์ จึงหาใช่สัญญาเช่าซื้อที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อแม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพราะจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ทำสัญญาดังกล่าวแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน
( มานะ ศุภวิริยกุล - สมชาย จุลนิติ์ - ชาลี ทัพภวิมล )
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ