ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
จำเลยลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไปหรือไม่?โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานใดรู้เห็นว่าจำเลยลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไป พยานหลักฐานของโจทก์ คงมีแต่ผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษสงสัยว่าจำเลยน่าจะเป็นคนร้ายเนื่องจากมีหลักฐานจับได้ว่าจำเลยลักบัตรเครดิตของตนไปนั้น ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ เพียงแต่พฤติการณ์ในทางคดีที่จำเลยเป็นคนรับใช้ในบ้านของผู้เสียหาย ๆ มีความไว้ใจให้อยู่บ้านยังกล้าลักบัตรเครดิตของผู้เสียหายไปซื้อสินค้า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อน่าสงสัยว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไปหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2552

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

การลักบัตรเครดิตของนายจ้างกับการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น เป็นคนละวาระกัน ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้างเป็นบัตรเครดิต ส่วนทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเป็นสินค่าที่จำเลยได้จากร้านค้าคือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รองเท้า และสร้อยข้อมือทองคำ ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวไม่ แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษเสียให้ถูกต้องโดยไม่แก้โทษได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง 212 ประกอบมาตรา 225

________________________________

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนมีนาคม 2547 เวลากลางวันถึงปลายเดือนเมษายน 2547 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักสร้อยข้อมือทองคำหนัก 1 สลึง 2 เส้นราคา 2,500 บาท สร้อยข้อมือทองคำหนัก 2 สลึง 1 เส้น ราคา 2,500 บาท แหวนทองคำปลอกมีดหนัก 1 สลึง 2 วง ราคา 2,500 บาท สร้อยข้อมือพลอยโกเมนสีแดง 1 เส้น ราคา 11,000 บาท สร้อยคอทองคำลายข้าวโพดหนัก 1 บาท ราคา 4,700 บาท และทองคำแท่งหนัก 10 บาท ราคา 47,000 บาท รวมราคา70,200 บาท ของนางสาวสุภวรรณ ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไป และเมื่อวันที่ 18 เมษายน2547เวลากลางวัน จำเลยลักบัตรเครดิตของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไป แล้วจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้แสดงต่อนางสาวสุวรรณา พนักงานของร้านเทเลแม็กซ์ สาขาโรบินสันบางรัก เพื่อซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย นางสาวสุวรรณา ร้านเทเลแม็กซ์ สาขาโรบินสันบางรัก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้อื่นและประชาชน ทั้งนี้จำเลยกระทำโดยทุจริตเพื่อหลอกลวงนางสาวสุวรรณาด้วยการแสดงบัตรเครดิตดังกล่าว แล้วจำเลยแสดงตนเป็นบุคคลตามบัตรเครดิตโดยลงลายมือชื่อ “สุภวรรณ” ซึ่งเป็นลายมือชื่อปลอมในช่องลายมือชื่อด้านล่างของใบบันทึกรายการขายให้เหมือนกับลายมือชื่อในด้านหลังของบัตรเครดิต เพื่อให้นางสาวสุวรรณาหลงเชื่อว่าจำเลยคือบุคคลชื่อสุภวรรณ เจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริงอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบัตรเครดิตดังกล่าวต้องใช้โดยผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบัตรเครดิตเท่านั้น โดยการหลอกลวงของจำเลยทำให้นางสาวสุวรรณาหลงเชื่อจึงยอมมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยไป ต่อมาธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)ได้เรียกเก็บเงินจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายชำระเงินให้ธนาคารแล้วและเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 เวลากลางวัน จำเลยลักบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปแล้วจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้แสดงต่อนางสาวจารุนันท์ พนักงานขายเครื่องหนังของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาบางรัก เพื่อซื้อรองเท้า โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายนางสาวจารุนันท์ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาบางรัก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้อื่นและประชาชน ทั้งนี้จำเลยกระทำโดยทุจริตเพื่อหลอกลวงนางสาวจารุนันท์ ด้วยการแสดงบัตรเครดิตดังกล่าวแล้วจำเลยแสดงตนเป็นบุคคลตามบัตรเครดิตโดยลงลายมือชื่อ “สุภวรรณ” ซึ่งเป็นลายมือชื่อปลอมในช่องลายมือชื่อด้านล่างของใบบันทึกรายการขายให้เหมือนกับลายมือชื่อในด้านหลังของบัตรเครดิตเพื่อให้นางสาวจารุนันท์หลงเชื่อว่าจำเลยคือบุคคลชื่อสุภวรรณ เจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริงอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบัตรเดรดิตดังกล่าวต้องใช้โดยผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบัตรเครดิตเท่านั้น โดยการหลอกลวงของจำเลยทำให้นางสาวจารุนันท์หลงเชื่อจึงยอมมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยไป ต่อมาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บเงินจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายชำระเงินให้ธนาคารแล้ว และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยลักบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไป แล้วจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดดังกล่าวไปใช้แสดงต่อนางปริศนา พนักงานขายของร้านออโรล่า สาขาโลตัส สุขุมวิท 50 เพื่อซื้อสร้อยข้อมือทองคำ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย นางปริศนา ร้านออโรล่า สาขาโลตัส สุขุมวิท 50 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้อื่นและประชาชน ทั้งนี้จำเลยกระทำโดยทุจริต เพื่อหลอกลวงนางปริศนาด้วยการแสดงบัตรเครดิตดังกล่าวแล้วจำเลยแสดงตนเป็นบุคคลตามบัตรเครดิตโดยลงลายมือชื่อ “สุภวรรณ” ซึ่งเป็นลายมือชื่อปลอมในช่องลายมือชื่อด้านล่างของใบบันทึกรายการขายให้เหมือนกับลายมือชื่อในด้านหลังของบัตรเครดิตเพื่อให้นางปริศนาหลงเชื่อว่าจำเลยคือบุคคลชื่อสุภวรรณ เจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริงอันเป็นความเท็จความจริงแล้วบัตรเครดิตดังกล่าวต้องใช้โดยผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบัตรเครดิตเท่านั้น โดยการหลอกลวงของจำเลยทำให้นางปริศนาหลงเชื่อจึงยอมมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยไป ต่อมาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บเงินจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายชำระเงินให้ธนาคารแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 335 (1) (11), 341, 342 (1), 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 102,175.75 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268วรรคแรก, 335 (11) วรรคแรก, 342 (1) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของนายจ้างจำคุก 3 ปี ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว และความผิดฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้าง ความผิดฐานใช้เอกสารปลอม กับความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้างซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 18 และ 23 เมษายน 2547 เป็นความผิด 2 กรรม ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี เป็นจำคุก 4 ปี และจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอม และความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 102,175.75 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของนายจ้างโทษของความผิดอื่นทุกกระทงนอกจากนี้รวมแล้วจำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 31,975.75 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องมีคนร้ายลักทรัพย์ทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไปตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนในรายการที่ 2 ถึงรายการที่ 7

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไปหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานใดรู้เห็นว่าจำเลยลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไป คงมีแต่ผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษสงสัยว่าจำเลยน่าจะเป็นคนร้ายรายนี้เนื่องจากผู้เสียหายมีหลักฐานจับได้ว่าบัตรเครดิตของตนที่ถูกลักไปมีการนำไปซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3660 โดยระบุทะเบียนชื่อผู้ขอใช้หมายเลขโทรศัพท์เป็นชื่อจำเลยและหมายเลขในบัตรเครดิตเป็นหมายเลขตรงกับบัตรเครดิตของผู้เสียหายที่ถูกลักไป ซึ่งเป็นหลักฐานเชื่อมโยงถึงตัวจำเลยประกอบกับเมื่อผู้เสียหายสอบถามจำเลยก็ยอมรับว่าได้ลักบัตรเครดิตของผู้เสียหายไปจริงและได้เขียนบันทึกการยอมรับสารภาพไว้ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณ จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ลักไป ทั้งบันทึกคำรับสารภาพ จำเลยก็ยอมรับแต่เพียงว่าลักบัตรเครดิต ไม่มีการยอมรับเรื่องทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหาย หากจำเลยลักไปจริงก็น่าจะยอมรับความจริงทั้งหมดทุกกรณี ในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การเช่นเดียวกันนี้อีก ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันหรือพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไปจริง แม้โจทก์จะมีนางวิลัย มาเบิกความว่าจำเลยเคยนำทองคำแท่งยาวประมาณ 4 นิ้ว มาอวดให้พยานดูและโจทก์มีสมุดโทรศัพท์ส่วนตัวของจำเลยที่เขียนรายการทรัพย์สินทั้ง 6 รายการไว้ตรงกับลักษณะทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายที่หายไปมีการขีดฆ่ารายการนั้นทิ้งมาแสดงสนับสนุนก็ตาม แต่นางวิลัยเคยเป็นลูกจ้างของพี่ชายผู้เสียหาย ทั้งจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ปฏิเสธอยู่ว่า เคยนำสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ซึ่งจำเลยซื้อมาในช่วงตรุษจีนเนื่องจากได้รับโบนัสมาให้นางวิลัยดูเท่านั้น จึงอาจทำให้นางวิลัยสับสนในเรื่องตัวทรัพย์และเบิกความไปได้ว่า ทรัพย์ที่จำเลยนำมาให้ดูนั้นเป็นทองคำแท่ง พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ เพียงแต่พฤติการณ์ในทางคดีที่จำเลยเป็นคนรับใช้ในบ้านของผู้เสียหายซึ่งอยู่ด้วยกันมานานถึง 4 ปี มีความไว้ใจให้อยู่บ้านดูแลมารดาผู้เสียหายที่ป่วย ยังกล้าลักบัตรเครดิตของผู้เสียหายไปซื้อสินค้า เมื่อผู้เสียหายจับได้และตรวจสอบทรัพย์สินในบ้านก็พบว่ามีทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณหายไปอีก 6 รายการ และน่าจะเป็นจำเลยที่ลักไป เพราะจำเลยอยู่ในบ้านน่าจะรู้เห็นที่ซ่อนทรัพย์ดังกล่าวได้ดี ก็เป็นแต่เพียงการคาดเดาชวนให้สงสัยในตัวจำเลยเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อน่าสงสัยว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายลักทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณของผู้เสียหายไปหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหานี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทความผิดของจำเลยว่า ความผิดฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้าง ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมกับความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้าง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะการลักบัตรเครดิตของนายจ้างกับการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น เป็นคนละวาระกัน ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้างเป็นบัตรเครดิต ส่วนทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเป็นสินค้าที่จำเลยได้จากร้านค้าคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ รองเท้า และสร้อยข้อมือทองคำ ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวไม่ แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษเสียให้ถูกต้องโดยไม่แก้โทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง 212 ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคแรก,268 วรรคแรก, 335 (11) วรรคแรก, 342 (1) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษความผิดฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้าง 2 กระทง ความผิดฐานปลอมเอกสาร ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีก 3 กระทง รวมเป็น 5 กระทง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

( สมชาย สินเกษม - ประทีป ปิติสันต์ - สุรชัย เอื้ออารีตระกูล )

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ