มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา
ในคดีอาญา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ เว้นแต่ในคดีที่มีโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ศาลต้องสืบพยานเพื่อรับฟังพยานโจทก์จนแน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงไม่ใช่รับเป็นผู้กระทำความผิดแทนผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ ในคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ ส่งเอกสารจำนวน 11 ฉบับต่อศาลเพื่อประกอบคำรับสารภาพของจำเลยโดยไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสาร 11 ฉบับดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่าไม่พอฟังให้เชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดจริง แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาล ระบุว่า โจทก์ยังติดใจสืบพยานอีก 2 ปาก แต่ศาลสั่งงดสืนพยาน จึงไม่ใช่ความผิดของพนักงานอัยการโจทก์ ชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2553
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ความใน ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่พิจารณาคดีนี้แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ในคดีที่มีอัตราโทษสูงนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องฟังพยานโจทก์ให้เป็นที่พอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงเสียก่อน โจทก์จึงต้องนำพยานเข้าสืบยืนยันว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นจริง มิใช่เป็นเพียงการรับสมอ้างว่าเป็นผู้กระทำความผิดนั้นแทนบุคคลอื่นการนำพยานบุคคลซึ่งรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยหรือพยานบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอันจะแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยมิได้ให้การรับสารภาพโดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้หรือเสแสร้งเพื่อให้ผู้กระทำความผิดอื่นพ้นผิด คดีนี้แม้โจทก์จะอ้างส่งเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.11 ต่อศาล แต่พยานเอกสารดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลใดมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเลย ลำพังเพียงพยานเอกสารดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง แต่ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ยังติดใจสืบพยานอีก 2 ปากแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้ง 2 ปาก ดังกล่าว โดยเห็นว่าจำเลยทั้งสองยอมรับแล้วว่าพยานโจทก์ทั้ง 2 ปาก เป็นผู้จับกุม มีข้อความตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 แล้ว การที่ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบต่อไปจนสิ้นกระแสความ จึงมิใช่เป็นความผิดของโจทก์ เมื่อพยานโจทก์ปากผู้จับกุมเป็นพยานที่สำคัญและจำเป็นเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์ไปจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 66 วรรคสามประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตทั้งสองกระทงเป็นจำคุกกระทงละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 25 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท รวมสองกระทงจำคุกคนละ 50 ปี และปรับคนละ 1,000,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่าลำพังเพียงเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.11 ที่โจทก์อ้างส่งศาลโดยไม่มีพยานบุคคลเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวเพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงตามฟ้องดังที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพต่อศาลแล้วหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่พิจารณาคดียาเสพติดให้โทษคดีนี้บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง” ซึ่งตามความในมาตรานี้แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ในคดีที่มีอัตราโทษสูงนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องฟังพยานโจทก์ให้เป็นที่พอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงเสียก่อน โจทก์จึงต้องนำพยานเข้าสืบยืนยันว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นจริงมิใช่เป็นเพียงการรับสมอ้างว่าเป็นผู้กระทำความผิดนั้นแทนบุคคลอื่น การนำพยานบุคคลซึ่งรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยหรือพยานบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น อันจะแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยมิได้ให้การรับสารภาพโดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้หรือเสแสร้งรับสารภาพเพื่อให้ผู้กระทำความผิดที่แท้จริงพ้นผิด คดีนี้แม้โจทก์จะอ้างส่งเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.11 ต่อศาล แต่พยานเอกสารดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลใดมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเลย ลำพังเพียงพยานเอกสารดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง อย่างไรก็ตามคดีนี้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ว่า โจทก์ยังติดใจจะสืบร้อยตำรวจเอกวิชนันท์และสิบตำรวจโทเกรียงศักดิ์ในฐานะผู้จับกุมเป็นพยานโจทก์อีก 2 ปาก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากดังกล่าว โดยเห็นว่าจำเลยทั้งสองยอมรับแล้วว่าพยานโจทก์ทั้ง 2 ปาก เป็นผู้จับกุม มีข้อความตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 แล้ว มิใช่โจทก์ไม่ประสงค์จะสืบพยานหลักฐานอื่นอีกต่อไปการที่ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบต่อไปจนสิ้นกระแสความจึงมิใช่เป็นความผิดของโจทก์เมื่อพยานโจทก์ปากผู้จับกุมเป็นพยานที่สำคัญและจำเป็นเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
( พิทยา บุญชู - สิทธิชัย พรหมศร - ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช )
ศาลอาญากรุงเทพใต้ - นายเอกสิทธิ์ จารุวัฒน์จีรังกร
ศาลอุทธรณ์ - นายก่อเกียรติ เอี่ยมบุตรลบ
มาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มี ข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตรา โทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
(วรรคสอง)ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาล เห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้นเป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้