ฟ้องเทศบาลไม่ดูแลไฟฟ้ารั่วไหล

ฟ้องเทศบาลไม่ดูแลไฟฟ้ารั่วไหล
อำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิต)

เทศบาลตำบลบ้านค่ายเป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็หน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำซึ่งรวมถึงการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างบนทางบกหรือทางน้ำเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ละเลยไม่ดูแลตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยในอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากโคมไฟฟ้าประชาชนผู้บริโภคถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิตเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เห็นว่าเทศบาลตำบลบ้านค่าย จำเลยที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ เทศบาลตำบลบ้านค่าย มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำซึ่งรวมถึงการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างบนทางบกหรือทางน้ำดังกล่าวด้วย ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕๐ (๒) ประกอบกับมาตรา ๕๑ (๗) ดังนั้น การจัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดระบบและบริการสาธารณะ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เทศบาลตำบลบ้านค่ายจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายและดำเนินกิจการทางปกครองในการที่จักต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้แสงสว่างและอุปกรณ์ทางไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบและความควบคุมกำกับดูแลของเทศบาลตำบลบ้านค่ายจำเลยที่ ๒ ให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไปอย่างเข้มงวด แต่กลับละเลยไม่ดูแลตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยในอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่เทศบาลตำบลบ้านค่ายจำเลยที่ ๒ นำมาติดตั้งไว้ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างส่องทางของเทศบาลตำบลบ้านค่ายจำเลยที่ ๒ ที่ติดตั้งอยู่บนยอดเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านค่ายจำเลยที่ ๑ และรั่วไหลลงมาตามลวดสลิงดึงรั้งเสาไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านค่ายจำเลยที่ ๑ ติดตั้งไว้ เป็นเหตุให้นางเปาว์ เหลือถนอม มารดาของโจทก์ที่ ๑ และเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ มิได้ตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคซึ่งใช้ในการบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้บริโภค คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสอาด เกิดแสง ที่ ๑ นายเพลย เหลือถนอม ที่ ๒ โจทก์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านค่าย ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านค่าย ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง


ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำวินิจฉัยที่ 1/2552


นางสอาด เกิดแสง ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน โจทก์


การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านค่าย ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

ที่ ๑/๒๕๕๒

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดระยอง

ระหว่าง

ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ

ศาลจังหวัดระยองโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลจังหวัดระยองและศาลปกครองระยองให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นางสอาด เกิดแสง ที่ ๑ นายเพลย เหลือถนอม ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านค่าย ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านค่าย ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดระยอง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๖๓๘/๒๕๔๙ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นางเปาว์ เหลือถนอม มารดาของโจทก์ที่ ๑ และเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิต อันเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองละเลยไม่ดูแลตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยในอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองนำมาติดตั้งไว้ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างส่องทางที่ติดตั้งอยู่บนยอดเสาไฟฟ้าของจำเลยที่ ๑ และรั่วไหลลงมาตามลวดสลิงดึงรั้งเสาไฟฟ้าที่จำเลยที่ ๑ ติดตั้งไว้ โคมไฟฟ้าให้แสงสว่างดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๒ ที่ติดตั้งโดยความยินยอมและเห็นชอบของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จักต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้แสงสว่างและอุปกรณ์ทางไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบและความควบคุมกำกับดูแลของจำเลยทั้งสองให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไปอย่างเข้มงวด แต่จำเลยทั้งสองหาได้ทำเช่นนั้นไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นค่าปลงศพเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และค่าขาดไร้อุปการะและค่าขาดแรงงานของบุคคลในครัวเรือนในส่วนของโจทก์ที่ ๒ เป็นระยะเวลา ๑๐ ปี ปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสองติดต่อผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายและความตายที่เกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าวตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว แต่ไม่ได้รับการชดใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑,๔๘๗,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองจนครบ

จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโคมไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าต้นที่เกิดเหตุไม่ได้เป็นของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นของจำเลยที่ ๒ การติดตั้ง ตรวจสอบและการบำรุงรักษาโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงและปลอดภัยนั้น จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบทั้งหมด อีกทั้งสายไฟฟ้าแรงต่ำที่จ่ายไฟให้กับชุดโคมไฟฟ้าก็เป็นของจำเลยที่ ๒ เช่นกัน ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงเจ้าของเสาไฟฟ้าที่ให้จำเลยที่ ๒ อาศัยติดตั้งโคมไฟฟ้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ได้คิดค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแต่อย่างใด ความตายของนางเปาว์จึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การรั่วของกระแสไฟฟ้าไม่ได้เกิดจากโคมไฟฟ้าของจำเลยที่ ๒ เนื่องจากโคมไฟฟ้าดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานและมีใช้กันทั่วไป จำเลยที่ ๒ จัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานมีเครื่องหมาย มอก. รับรองคุณภาพ ตามที่กำหนดในระเบียบพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัสดุไฟฟ้าของจำเลยที่ ๒ ที่นำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งเขตเทศบาลตำบลบ้านค่ายมีคุณภาพได้มาตรฐาน และจำเลยที่ ๒ ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินและลัดวงจรไว้ตามมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ได้บำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยอยู่ในสภาพดีอยู่ประจำ โดยมอบหมายให้พนักงานเทศบาล ลูกจ้างประจำและพนักงานจ้าง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในเรื่องไฟฟ้าสาธารณะออกตรวจสอบ แก้ไข ซ่อมบำรุงไฟฟ้าสาธารณะอยู่เป็นประจำ ทั้งได้มอบหมายให้พนักงานเทศบาล ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างที่อยู่เวรในช่วงกลางคืนจัดทีมออกไปตรวจสอบพื้นที่และความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในเขตเทศบาล รวมทั้งตรวจตราว่ามีไฟฟ้าสาธารณะชำรุดหรือดับบริเวณใดบ้าง โดยมีการทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับเพื่อพิจารณาสั่งการให้แก้ไขความชำรุดของไฟฟ้าสาธารณะทุกวัน เมื่อพบว่าไฟฟ้าสาธารณะจุดใดชำรุดหรือดับก็จะดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขโดยเร็ว จำเลยที่ ๒ ใช้ความระมัดระวังโดยตรวจสอบระบบไฟฟ้าสาธารณะตามระเบียบของทางราชการทุกประการ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด นอกจากนั้น ความรับผิดจากการกระทำละเมิดดังกล่าวอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ต่อมาศาลจังหวัดระยองเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องจำเลยที่ ๑ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล การรับฟ้องไว้พิจารณาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาดจำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ศาลจังหวัดระยองเห็นว่า แม้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ แต่การกระทำละเมิดตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ศาลปกครองระยองเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จำเลยที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่โดยตรงในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและ บำรุงทางบกและทางน้ำซึ่งรวมถึงการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างบนทางบกหรือทางน้ำดังกล่าวด้วย อันเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคและระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ดังนั้น การจัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดระบบและให้บริการสาธารณะ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคซึ่งใช้ในการบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้บริโภค จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๔/๒๕๔๗ ที่ ๑๕/๒๕๔๗ และที่ ๑๐/๒๕๔๘

คำวินิจฉัย

ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ

ศาลปกครอง

คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เนื่องจากศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์

ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ ๑ คดีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จำเลยที่ ๒ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำซึ่งรวมถึงการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างบนทางบกหรือทางน้ำดังกล่าวด้วย ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕๐ (๒) ประกอบกับมาตรา ๕๑ (๗) ดังนั้น การจัดให้มีและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดระบบและบริการสาธารณะ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายและดำเนินกิจการทางปกครองในการที่จักต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้แสงสว่างและอุปกรณ์ทางไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบและความควบคุมกำกับดูแลของจำเลยที่ ๒ ให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไปอย่างเข้มงวด ละเลยไม่ดูแลตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยในอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่จำเลยที่ ๒ นำมาติดตั้งไว้ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างส่องทางของจำเลยที่ ๒ ที่ติดตั้งอยู่บนยอดเสาไฟฟ้าของจำเลยที่ ๑ และรั่วไหลลงมาตามลวดสลิงดึงรั้งเสาไฟฟ้าที่จำเลยที่ ๑ ติดตั้งไว้ เป็นเหตุให้นางเปาว์ เหลือถนอม มารดาของโจทก์ที่ ๑ และเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ มิได้ตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคซึ่งใช้ในการบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้บริโภค คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสอาด เกิดแสง ที่ ๑ นายเพลย เหลือถนอม ที่ ๒ โจทก์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านค่าย ที่ ๑ เทศบาลตำบลบ้านค่าย ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย

(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)

ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม

(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)

ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร

(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)

หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์

(นายพรชัย รัศมีแพทย์)

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ