ตกลงยอมความกันในขอบเขตแห่งประเด็นในคดี
ตกลงยอมความกันในขอบเขตแห่งประเด็นในคดี
ผู้ให้เช่าเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องพิพาท จำเลยตกลงกันยอมชำระค่าเช่าที่ค้างและโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าห้องต่อไปอีก 1 ปี เป็นการตกลงกันในขอบเขตแห่งประเด็นในคดี การที่ศาลพิพากษา ตามยอมหรือตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือไม่ได้ว่าเกินคำขอหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในฟ้อง และถือไม่ได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6038/2534
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากห้องพิพาทเพราะครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วแจ้งให้ออกแต่จำเลยไม่ยอมออกไปการที่โจทก์ และจำเลยตกลงกันโดยจำเลยยอมชำระค่าเช่าที่ค้าง(ค่าเสียหาย) แก่โจทก์และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าห้องต่อไปอีก 1 ปีเป็นข้อตกลง ที่ไม่ฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการตกลงกันในขอบเขตแห่งประเด็นในคดี หรือที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคดีแล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ตามยอมให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง (ค่าเสียหาย) ดังกล่าวแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเกินคำขอหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในฟ้อง และถือไม่ได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ระบุชื่อโจทก์ผู้ฟ้องว่า"นางวนิดากลั่นประทุมมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายมนตรีพัธเสมาและเด็กหญิงดารณีพัธเสมา โจทก์" มีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์มีฐานะเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาวทั้งสองยังไม่แจ้งชัดว่าเป็นการฟ้องแทนผู้เยาว์ เพราะถ้าโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้เยาว์จะต้องระบุชื่อผู้เยาว์เป็นโจทก์ในคำฟ้อง เช่นระบุว่าเด็กชายมนตรี พัธเสมาและเด็กหญิงดารณีพัธเสมา โดยนางวนิดากลั่นประทุม มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยระบุว่าเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ของผู้เยาว์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าโจทก์ประสงค์จะแสดงความสัมพันธ์ ของโจทก์กับผู้เยาว์ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสำเนา โฉนดท้ายฟ้องอันเป็นที่ตั้งของตึกแถวพิพาทมากกว่า คำฟ้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวพิพาท จำเลยได้เข้าทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งตามสัญญาเช่าดังกล่าวก็ระบุ ชัดแจ้งว่านางวนิดากลั่นประทุม (โจทก์) เป็นผู้ให้เช่า ไม่มีข้อความว่าได้กระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่อย่างใดโจทก์ ฟ้องคดีขอให้ขับไล่จำเลยอันเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าที่โจทก์เป็นผู้ให้เช่า เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันก็ ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยหาได้ระบุว่าโจทก์กระทำการแทนผู้เยาว์ไม่ จึงเห็นได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่า ไม่ได้ฟ้องแทนบุตรผู้เยาว์ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้ทำการแทนผู้เยาว์กรณีไม่ต้องรับอนุญาตจากศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง.
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของเด็กชายมนตรี พัธเสมา และเด็กหญิงดารณี พัธเสมา โจทก์จึงเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายมนตรีและเด็กหญิงดารณีตามกฎหมายโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวเลขที่ 254 และ 254/1 ซึ่งตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 39200,90254 แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม2529 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวจากโจทก์ทำอู่ซ่อมรถยนต์มีกำหนดเวลาเช่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530 เป็นต้นไปเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยออกจากตึกแถวที่พิพาททั้งสองห้อง จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิด โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์สามารถนำตึกแถวพิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าได้ถึงเดือนละ 15,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท และห้ามมิให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทและมิใช่เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 39200 และ 90254 ตึกแถวและที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของเด็กชายมนตรีและเด็กหญิงดารณี พัธเสมา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวที่พิพาทกับจำเลยในฐานะส่วนตัวและฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัว มิได้มีเจตนาทำแทนผู้เยาว์และมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์ โจทก์จึงไม่ได้ฟ้องคดีนี้แทนผู้เยาว์ โจทก์ยังมิได้บอกเลิกการเช่ากับจำเลยค่าเสียหายหากมีก็ไม่ควรสูงกว่าค่าเช่าที่จำเลยตกลงเช่าตึกแถวที่พิพาทกับโจทก์คือเดือนละ 8,000 บาท และจำเลยชอบที่จะขอหักเงินค่าประกันสัญญาและประกันน้ำไฟออกจากค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้จำนวน 28,000 บาท ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความว่า
ข้อ 1. จำเลยยอมตกลงชำระเงินค่าเช่าที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2531 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท รวมเป็นเงิน 56,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2531
ข้อ 2. นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2531 โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าบ้านเลขที่ 254 และ 254/1 ถนนวงศ์สว่าง แขวงบางซื่อ เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร ต่อไปอีกถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท
ข้อ 3. โจทก์ยอมตกลงตามข้อ 1 ข้อ 2 และถ้าหากจำเลยผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที
ข้อ 4. ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระค่าเช่าห้องพิพาทที่ค้างจำนวน 56,000 บาท ว่า ไม่เกินคำขอโดยให้เหตุผลว่าเพราะเกี่ยวข้องกับการเช่าที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นประเด็นแห่งคดี ซึ่งโจทก์ยอมตกลงให้จำเลยเช่าห้องพิพาทต่อไปอีก 1 ปี โดยจำเลยยอมชำระค่าเช่าที่ค้างดังกล่าวแก่โจทก์นั้นจำเลยไม่เห็นด้วย เพราะคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่าหรือค่าเสียหายจากจำเลย ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นเรื่องค่าเช่าหรือค่าเสียหาย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในฟ้องและเป็นการหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาลตามที่บัญญัติไว้ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามมาตรา 1(1) ก. ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วยนั้น เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมนั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดา จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้อง แต่ต้องตกลงกันในประเด็นแห่งคดี รวมถึงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนั้น ๆตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138และข้อตกลงนั้นไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายศาลก็ต้องพิพากษาไปตามยอมไม่ว่าจะเกินคำขอในฟ้องหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิของคู่ความที่จะตกลงกันได้ภายในขอบเขตแห่งประเด็นในคดีหรือที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากห้องพิพาทเพราะครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วแจ้งให้จำเลยออกแต่จำเลยไม่ยอมออกไปการที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยจำเลยยอมชำระค่าเช่าที่ค้าง(ค่าเสียหาย) นั้นแก่โจทก์ และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าห้องพิพาทต่อไปอีก 1 ปีนั้น เป็นข้อตกลงที่ไม่ฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการตกลงกันในขอบเขตแห่งประเด็นในคดีหรือที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคดีแล้วดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระค่าเช่า(ค่าเสียหาย) ที่ค้างดังกล่าวแก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเกินคำขอหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในฟ้อง และถือไม่ได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล กรณีดังกล่าวก็หาใช่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่จำเลยอ้างไม่ ส่วนฎีกาของจำเลยข้อ 2 ที่ว่าโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1574(8) และวิธีดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลคดีเด็กและเยาวชนโจทก์จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้นั้นพิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง หากโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนผู้เยาว์ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(8) และศาลที่มีอำนาจอนุญาตได้คือศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8(2) จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้แทนผู้เยาว์หรือไม่เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ระบุชื่อโจทก์ผู้ฟ้องว่า"นางวนิดา กลั่นประทุม มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายมนตรีพัธเสมา และเด็กหญิงดารณี พัธเสมา โจทก์" มีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์มีฐานะเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้งสองยังไม่แจ้งชัดว่าเป็นการฟ้องแทนผู้เยาว์ เพราะถ้าโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้เยาว์จะต้องระบุชื่อผู้เยาว์เป็นโจทก์ในคำฟ้อง เช่น ระบุว่าเด็กชายมนตรี พัธเสมา และเด็กหญิงดารณี พัธเสมา โดยนางวนิดากลั่นประทุม มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยระบุว่าเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าโจทก์ประสงค์จะแสดงความสัมพันธ์ของโจทก์กับผู้เยาว์ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสำเนาโฉนดท้ายฟ้อง อันเป็นที่ตั้งของตึกแถวพิพาทมากกว่า คำฟ้องของโจทก์ยังอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวพิพาทเลขที่ 254 และ 254/1 และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2529 จำเลยได้เข้าทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ตามสำเนาสัญญาเช่าดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดแจ้งว่านางวนิดากลั่นประทุม (โจทก์) เป็นผู้ให้เช่า ไม่มีข้อความว่าได้กระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ประการใด โจทก์ฟ้องคดีขอให้ขับไล่จำเลยเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าที่โจทก์เป็นผู้ให้เช่าตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีนี้ฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2531 ก็ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ระหว่างโจทก์กับจำเลยหาได้ระบุว่าโจทก์กระทำการแทนผู้เยาว์ไม่ จึงเห็นได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่าไม่ได้ฟ้องแทนบุตรผู้เยาว์การทำสัญญาประนีประนอมยอมความคดีนี้จึงมิได้ทำการแทนผู้เยาว์เช่นเดียวกัน กรณีไม่ต้องรับอนุญาตจากศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางตามที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน.
( ประคนธ์ พันธุ์วิชาติกุล - สวิน อักขรายุธ - ชาติศักดิ์ ธรรมศักดิ์ )