คำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวห้ามอุทธรณ์

การยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้องนั้น จำเลยจะอุทธรณ์+ฎีกา คำสั่งของศาลได้หรือไม่ ในเรื่องนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนจึงต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4829/2553

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว และคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการขอให้ปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและยกคำร้องที่ขอให้ไต่สวน จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งที่ยกคำร้องขอให้ไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการขอให้ปล่อยชั่วคราว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ฎีกา เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 เพื่อประกอบการพิจารณาขอให้ปล่อยชั่วคราวก็สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 2 ชั่วคราว ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 108 คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้คืนถ้อยคำสำนวนพร้อมคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแก่ศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปก็มีผลเช่นเดียวกับการไม่รับวินิจฉัย และสั่งยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
________________________________

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 8, 19 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 264, 265, 268, 371

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว และคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการขอให้ปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้องที่ขอให้ไต่สวน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งที่ยกคำร้องขอให้ไต่สวนคำร้องประกอบการขอให้ปล่อยชั่วคราว

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ไต่สวนพยานตามที่จำเลยที่ 2 ร้องขอ ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่มิได้ทำให้คดีเสร็จสำนวน ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 จึงให้คืนถ้อยคำสำนวนพร้อมคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแก่ศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไป

จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้ไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการพิจารณาขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณา ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยไม่เกิดความเสียหายแก่คดีในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนเพราะคดีจะต้องพิจารณาต่อไป กรณีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้คืนถ้อยคำสำนวนพร้อมคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแก่ศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการไม่รับวินิจฉัยและสั่งยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

( สุมิตร สุภาดุลย์ - สมศักดิ์ อเนกพุฒิ - ศิริชัย จิระบุญศรี )
ศาลอาญา - นายสถาพร ดาโรจน์
ศาลอุทธรณ์ - นายวัชรินทร์ สุขเกื้อ
________________________________________________
มาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหาย ที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการ นั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้

ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราว หรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ