ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยอ้างว่าลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยหลงผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาของศาลจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้นก็เป็นเพียงเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 (2) ที่จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้เท่านั้น แต่มิใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยกเลิกเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการมาแล้วเสียทั้งหมดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2550

คำร้องของจำเลยที่อ้างว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยหลงผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญาเนื่องจากจำเลยไม่เข้าใจถึงข้อความที่ระบุในสัญญาให้โจทก์บังคับจำเลยให้ออกจากอาคารพิพาท คำพิพากษาของศาลจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมได้สิ้นสุดลงก่อนที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เท่ากับจำเลยกล่าวอ้างว่า คำพิพากษาตามยอมเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นเพียงเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 (2) ที่จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้เท่านั้น แต่มิใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยกเลิกเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการมาแล้วเสียทั้งหมดได้
________________________________

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความสำคัญว่า โจทก์ทั้ง 11 คน และโจทก์ร่วมยอมให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาทมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ ซึ่งบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ร่วม โจทก์ทั้ง 11 คน ได้ทำสัญญาเช่าไว้กับโจทก์ร่วมและจำเลยจะอยู่อาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวโดยไม่ต้องชำระค่าเช่าหรือค่าตอบแทนอื่นใดตลอดระยะเวลาดังกล่าว การอยู่อาศัยของจำเลยจะไม่ทำความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด และหากครบกำหนดแล้ว โจทก์ทั้ง 11 คน หรือคนใดคนหนึ่งต้องการที่พิพาทเพื่อรื้อถอน ปรับปรุง หรือซ่อมแซมเป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์หรือทายาท โจทก์จะต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน เพื่อให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปโดยการบอกกล่าวต้องทำเป็นหนังสือส่งให้จำเลยทราบทางไปรษณีย์ตอบรับหรือปิดประกาศไว้ ณ สถานที่พิพาท การรื้อถอนหรือปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยดังกล่าว โจทก์จะต้องขออนุญาตดำเนินการต่อโจทก์ร่วม และได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว แต่หากโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการ โจทก์ย่อมให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว โดยจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ยอมให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไปเดือนละ 2,000 บาท

ครั้นต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2544 จำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์ทำสัญญาช่าที่ดินและอาคารพิพาทจากโจทก์ร่วมเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ครบกำหนดในวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ดังนั้น ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่ลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความมีเงื่อนไขให้บังคับจำเลยต่างๆ จึงไม่มีผลผูกพัน จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยหลงผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญา เนื่องจากจำเลยไม่เข้าใจถึงข้อความที่ระบุในสัญญาให้โจทก์บังคับจำเลยให้ออกจากอาคารพิพาท กรณีที่โจทก์หรือทายาทของโจทก์ต้องการอาคารพิพาทเพื่ออยู่อาศัย คำพิพากษาของศาลจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมได้สิ้นสุดลงก่อนที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ในสัญญาดังกล่าวกลับระบุข้อความในสัญญาให้โจทก์ได้สิทธิดำเนินการบังคับจำเลย ทั้งที่โจทก์ไม่มีสิทธิหน้าที่อันใดที่จะกำหนดสิทธิและลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ อีกทั้งโจทก์มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยที่ดินและอาคารพิพาทเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแต่ประการใด จำเลยต่างหากที่อยู่อาศัยในอาคารพิพาท จำเลยเพิ่งทราบถึงเหตุที่คำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ภายหลังที่พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วจำเลยชอบที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าคำพิพากษาของศาลตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ในทันที ขอให้ทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยและสั่งว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยกเลิกเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาแล้วในคดีนี้เสียทั้งหมด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์คำร้องแล้ว หากจำเลยเห็นว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 กรณีไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคำร้องของจำเลยได้ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ตามคำร้องของจำเลยมีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาและทำการไต่สวนพิจารณาสั่งตามรูปความแห่งคดีหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง บัญญัติถึงผลของคำพิพากษาตามยอมว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้น ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้น ถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ”

เหตุตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารพิพาทจากโจทก์ร่วมเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ดังนั้น ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งเป็นวันที่ลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความมีเงื่อนไขให้บังคับจำเลยต่างๆ จึงไม่มีผลผูกพัน จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความโดยหลงผิดในสาระสำคัญแห่งสัญญา เนื่องจากจำเลยไม่เข้าใจถึงข้อความที่ระบุในสัญญาให้โจทก์บังคับจำเลยให้ออกจากอาคารพิพาท กรณีที่โจทก์หรือทายาทของโจทก์ต้องการอาคารพิพาทเพื่ออยู่อาศัย คำพิพากษาของศาลจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมได้สิ้นสุดลงก่อนที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยดังกล่าว เท่ากับจำเลยกล่าวอ้างว่า คำพิพากษาตามยอมนั้น เป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นเพียงเหตุตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 (2) ที่จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้เท่านั้น แต่หาใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยกเลิกเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการมาแล้วเสียทั้งหมดได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยโดยไม่จำต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยก่อนนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - นินนาท สาครรัตน์ - วีระศักดิ์ นิศามณี )

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ