ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่

ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่

ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่ การที่นายจ้างกับสหภาพแรงงานได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่จากเดิมเป็นแยกจ่ายค่าครองชีพออกจากค่าจ้าง โดยนายจ้างได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ การที่นายจ้างจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างที่ต้องถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938 - 8992/2552

การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง

การที่จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง

คดีทั้งห้าสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 55 เรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย

โจทก์ทั้งห้าสิบห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีวันเข้าทำงานวันเลิกจ้าง อัตราค่าจ้างสุดท้าย และค่าครองชีพ จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าและจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้า และหากค่าครองชีพที่พิพาทเป็นค่าจ้างจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้า

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง แต่เมื่อมีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำลูกจ้างจำเลยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามประกาศ จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์จึงทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่โดยแยกค่าครองชีพออกจากค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นมา ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 2 มีข้อตกลงว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างโดยมีหลักเกณฑ์ไม่นำเงินดังกล่าวรวมเข้าในค่าจ้างมูลฐาน และไม่นำไปคิดคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าทดแทน ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ เงินโบนัสประจำปี และเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน ก่อนเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างทุกคนเป็นประจำในอัตราเดือนละ 700 บาท ไม่ว่าจะหยุดงานหรือไม่ก็ตาม แล้ววินิจฉัยว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ประสงค์จะจ่ายค่าครองชีพเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้างแต่จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือลูกจ้าง ค่าครองชีพจึงมิใช่ค่าจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเนื่องจากต้องลดพนักงานลงตามความเหมาะสมเพื่อประคองให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลายอันเป็นเหตุให้ต้องเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดเพราะเหตุประกอบกิจการขาดทุน มิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุจำเป็นและสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มพิเศษแก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้า จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 11 ที่ 12 ขาดอยู่ 13 วัน และจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 25 ขาดอยู่ 2 วัน จึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 11 โจทก์ที่ 12 และโจทก์ที่ 25 จำนวน 4,455.97 บาท 6,744.40 บาท และ 419 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งห้าสิบห้าและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าสิบห้าว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่จากเดิมที่เคยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างมาเป็นแยกจ่ายค่าครองชีพออกจากค่าจ้างก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าหลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วจำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างรายวันและรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่เช่นนี้ กรณีย่อมถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง เมื่อค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด เป็นต้น ดังนั้น ในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย นายจ้างจะต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมค่าจ้างทุกประเภทรวมทั้งค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพิ่มเติมแก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้า...

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มแก่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าคนละ 350 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้แก่โจทก์คนละ 7,000 บาท ยกเว้นโจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 13 ที่ 24 ที่ 28 ที่ 34 และที่ 47 จ่ายเพิ่มให้คนละ 5,600 บาท โจทก์ที่ 10 จ่ายเพิ่มให้ 2,100 บาท และโจทก์ที่ 55 จ่ายเพิ่มให้ 4,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 เมษายน 2548 สำหรับโจทก์ที่ 11 ที่ 12 ที่ 25 ถึงที่ 35 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2548 สำหรับโจทก์ที่ 13 ถึงที่ 24 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 23 เมษายน 2548 สำหรับโจทก์ที่ 36 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2548 และสำหรับโจทก์ที่ 37 ถึง 55 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2548 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

( นิยุต สุภัทรพาหิรผล - ดิเรก อิงคนินันท์ - วิรุฬห์ แสงเทียน )
ศาลแรงงานกลาง - นายไพโรจน์ นิติกรไชยรัตน์

ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ